วันที่ 2 เมษายน 2563 เวลา 13.30 น.ณ ห้องประชุมเทวกุล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร : ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม (VDO Conference) ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวง โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยฯ ทั่วประเทศเข้าร่วมด้วย
รมช.ธรรมนัสฯ เปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน และจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุ ฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง อาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในภาคเหนือ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,ภาคตะวันออก และภาคกลาง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพี่น้องประชาชน เกษตรกร พื้นที่การเกษตร และผลผลิตทางการเกษตรได้นั้น จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่รับผิดชอบบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
ติดตามสภาพอากาศ วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง มีความต้องการน้ำ รวมถึงพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การไม่เพียงพอ ให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามข้อมูลที่มีการติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน และข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง ส่วนปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาพื้นที่การเกษตร พื้นที่ไฟไหม้ป่า ให้ดำเนินการประสานงานกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ให้ปฏิบัติการฝนหลวงหรือสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ตักน้ำดับไฟป่าทันที ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลและระมัดระวังตนเองในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมฯ และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจ เพื่อพี่น้องเกษตรกร และประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการปฏิบัติการฝนหลวงของหน่วยปฏิบัติการฯ 11 หน่วยทั่วประเทศ ในขณะนี้มีการปรับฐานปฏิบัติการเพื่อดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย ภาคเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการที่ จ.เชียงใหม่ และพิษณุโลก ภาคกลาง ย้ายจากหน่วยฯ จ.นครสวรรค์ ไปประจำการที่ จ.ลพบุรี และย้ายจากหน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ไปประจำการที่สนามบินชั่วคราว จ.ราชบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งหน่วยฯ ที่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ และย้ายจากหน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ไปประจำการที่จ.นครราชสีมา ภาคตะวันออก ย้ายจากหน่วยฯ จ.ระยอง ไปประจำการที่ จ.จันทบุรี และภาคใต้ ยังคงตั้งหน่วยฯ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทั้ง 11 หน่วยฯ จะมีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำ ทุกวันเพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่เขื่อน อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำลำคลอง ช่วยเหลือพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่า หมอกควัน ช่วยบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บจากสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศและกองทัพบก ในการร่วมกันปฏิบัติภารกิจดังกล่าวทั้งหมดด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยให้บุคลากรส่วนกลาง วัดอุณหภูมิร่างกาย ณ จุดคัดครองภายในบริเวณที่หน่วยงานกำหนด ปรับเวลาการปฏิบัติงานเพื่อลดการแออัดจากการเดินทางและการรวมกลุ่มในสถานที่ทำงาน ส่วนทางภูมิภาคกำชับให้บุคลากรทุกฝ่าย อาทิ นักวิทยาศาสตร์ นักบิน ช่างเครื่องบิน ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด และงดการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงระหว่างวันที่ 1–30 เมษายน 2563 เพื่อให้ความร่วมมือตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์จาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ เครื่องวัดอุณหภูมิ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เจล ถุงมือ สำลี และขวดสเปรย์ สำหรับให้บุคลากรนำไปใช้ ในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย
Cr.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน