หน้ากากอนามัย คือ หน้ากากที่ใช้เพื่อช่วยป้องกันระบบทางเดินหายใจจากมลพิษ สารพิษ และเชื้อโรค ในหลายกรณี แพทย์มักแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากเป็นวิธีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสจากคนสู่คนได้ หากรู้วิธีใช้ที่ถูกต้องก็จะช่วยให้การป้องกันนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หน้ากากอนามัย
หน้ากากอนามัย ผลิตขึ้นจากผ้าหรือพอลิโพรไพลีนซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ โดยหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพจะต้องมีชั้นกรองอย่างน้อย 3 ชั้น เพื่อช่วยในการป้องกันเชื้อโรค มลพิษหรือของเหลวจากภายนอก และช่วยดูดซับสารคัดหลั่งหรือความชื้นที่มาจากผู้ใช้ ป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
ประเภทของหน้ากากอนามัย
หน้ากากอนามัยที่วางขายทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะของหน้ากาก และประสิทธิภาพของการกรองอากาศ ดังนี้
หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป หน้ากากอนามัยประเภทนี้จะค่อนข้างกระชับกับใบหน้า โดยแนบไปกับใบหน้า ซึ่งในวงการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ และมักใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านทางการไอ หรือจามได้ ทว่าข้อเสียของหน้ากากอนามัยชนิดนี้คือ บริเวณด้านล่างของหน้ากากอนามัยจะไม่สามารถป้องกันการได้รับสารปนเปื้อนจาการสูดดมได้
หน้ากากอนามัยแบบ N95 เป็นหน้ากากอนามัยชนิดที่ช่วยป้องกันการเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ได้ โดยประสิทธิภาพในการป้องกันจะสูงกว่าหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป เนื่องจากลักษณะของหน้ากากอนามัยชนิดนี้จะมีลักษณะครอบลงไปที่บริเวณหน้าปากและจมูกอย่างมิดชิดทำให้เชื้อไวรัสหรือสารปนเปื้อนไม่สามารถลอดผ่านได้ หน้ากากอนามัยชนิดนี้มักใช้ทั้งในวงการแพทย์ที่ต้องการความปลอดภัยจากการติดเชื้อสูง ได้แก่ การป้องกันเชื้อวัณโรค หรือเชื้อแอนแทร็กซ์ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ อีกทั้งมักใช้ระหว่างการทำงาน เช่น การทำงานกับสารเคมีหรือการใช้สีที่อาจทำให้ได้กลิ่นไม่พึงประสงค์ ทว่าในการใช้หน้ากากอนามัยแบบ N95 จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม เพราะขนาดและยี่ห้อที่แตกต่างกันอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกรองอากาศได้
ประโยชน์ของหน้ากากอนามัย
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของหน้ากากอนามัยคือ หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันมลพิษและเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเชื้อโรคจากผู้อื่น และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังผู้อื่นได้เป็นอย่างดี จึงทำให้วงการแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้คนทั่วไปใช้หน้ากากอนามัยเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค เพราะลดความเสี่ยงการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนได้ โดยมีการศึกษาพบว่าหน้ากากอนามัยนั้นช่วยกรองเชื้อโรคออกได้ถึง 80% ทว่าก็ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
ข้อจำกัดของหน้ากากอนามัย
แม้หน้ากากอนามัยจะมีประโยชน์ในด้านการป้องกันสุขภาพ แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ ดังนี้
ไม่สามารถป้องกันได้ 100% หน้ากากอนามัยส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเพียงประมาณ 80% ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุ หากเป็นหน้ากากอนามัยชนิด N95 ป้องกันได้ 95% ดังนั้น ผู้ใช้จึงยังอาจมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้
ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ทุกชนิด แม้จะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ในระดับหนึ่งแต่ยังไม่มีการทดสอบว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งได้อย่างเจาะจง ดังนั้น หน้ากากอนามัยจึงไม่สามารถใช้เพื่อป้องกันโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะได้
ใช้ได้ครั้งเดียว หน้ากากอนามัยเกือบทุกชนิดจะเป็นชนิดใช้แล้วทิ้ง และไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือทำความสะอาดได้ เนื่องจากเมื่อใช้แล้วเชื้อโรคจะติดอยู่บนหน้ากากอนามัย หากใช้ซ้ำก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
ไม่มีผลวิจัยชัดเจนว่าช่วยป้องกันได้ แม้วงการแพทย์จะแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยป้องกันมลพิษหรือการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าหน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจหรือมลพิษมากเพียงใด จึงทำให้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ใครควรใส่หน้ากากอนามัย ?
หน้ากากอนามัยนั้นใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย กลุ่มคนที่ควรใช้หน้ากากอนามัยเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากตัวเองไปยังผู้อื่น หรือป้องกันไม่ให้ตัวเองติดเชื้อจากผู้ป่วยคนอื่น ๆ ได้แก่
ผู้ที่ต้องอยู่ใกล้หรือมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
ผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจซึ่งต้องใกล้ชิดกับคนปกติ หรือต้องออกไปนอกบ้าน
ผู้ที่ต้องเข้าไปยังบริเวณเสี่ยงติดเชื้อ หรือสถานที่ที่มีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรงพยาบาล หรือสถานที่ที่มีคนแออัด เป็นต้น
วิธีใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง
การใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผู้ใช้ป้องกันเชื้อโรคและมลพิษได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้
วิธีการใส่หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป
ล้างมือทำความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ติดอยู่บริเวณมือ
เลือกขนาดของหน้ากากอนามัยให้เหมาะสม หากเป็นเด็กควรเลือกขนาดเฉพาะเพื่อไม่ให้หน้ากากอนามัยใหญ่เกินไป
ใส่หน้ากากอนามัยให้พอดีกับใบหน้า โดยหันด้านที่มีสีออก และให้ด้านที่มีลวดอยู่ด้านบน หากเป็นหน้ากากอนามัยชนิดไม่มีสี ให้สังเกตรอยพับของหน้ากากอนามัย หากมุมของรอยพับชี้ลงด้านล่างด้านนั้นจะเป็นด้านนอกของหน้ากากอนามัย
ขณะใส่หน้ากากอนามัย หากเป็นหน้ากากแบบที่ต้องผูกปลายเชือกเข้าด้วยกัน ให้ผูกเชือกเส้นล่างที่บริเวณต้นคอ ส่วนเส้นบนผูกบริเวณศีรษะ หากเป็นชนิดสายยางยืด ให้คล้องที่หูทั้งสองข้าง แล้วบีบบริเวณเส้นลวดให้พอดีกับจมูก จะทำให้หน้ากากอนามัยพอดีกับใบหน้า
ดึงหน้ากากอนามัยให้ปิดบริเวณปาก จมูก และคาง เป็นอันเรียบร้อย
วิธีการใส่หน้ากากอนามัยแบบ N95
ถือหน้ากากอนามัยไว้ในอุ้งมือ แล้วครอบหน้ากากบริเวณปากและจมูก
ดึงสายรัดของหน้ากากอนามัยที่อยู่ด้านล่างคล้องศีรษะแล้วดึงลงไปบริเวณใต้ใบหู จากนั้นดึงสายรัดเส้นบนคล้องศีรษะให้อยู่บริเวณหลังศีรษะ แล้วบีบบริเวณเส้นลวดให้พอดีกับจมูก
ตรวจสอบความเรียบร้อยว่าหน้ากากอนามัยแนบสนิทกับใบหน้าหรือไม่
ทดสอบความพอดีของหน้ากากโดยใช้มือทั้งสองข้างทาบบริเวณหน้ากาก แล้วลองหายใจ หากหน้ากากพอดีกับใบหน้าเวลาหายใจเข้าหน้ากากจะยุบตัว หายใจออกหน้ากากจะพองตัวออก
นอกจากนี้ ผู้ใช้ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยเมื่อรู้ว่าหน้ากากที่ใช้เปียก หรือโดนสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก และไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ หลีกเลี่ยงการล้างทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อ อีกทั้งยังไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยร่วมกับผู้อื่น หลังจากเปลี่ยนหน้ากากอนามัยแล้วควรนำหน้ากากที่ใช้แล้วใส่ถุงปิดให้มิดชิดก่อนทิ้ง หรือทิ้งในถังขยะติดเชื้อ และล้างมือทำความสะอาดเพื่อป้องกันการตกค้างของเชื้อโรค
หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรคได้จริงหรือไม่ ?
แม้จะยังไม่มีผลการยืนยันที่ชัดเจนว่าหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันเชื้อโรค แต่มีการศึกษาว่าว่าหน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อได้เพียงแต่ต้องใช้ร่วมกับวิธีอื่น ๆ เช่น การล้างมืออย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย หรือการได้รับวัคซีนป้องโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจบางชนิด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ อีกทั้งยังควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เพราะแม้จะใส่หน้ากากอนามัยแล้วแต่หากได้รับเชื้อในปริมาณมาก หรือต้องใช้ของร่วมกับผู้ป่วยก็เสี่ยงติดเชื้อได้
ด้าน นายธเนศ วงศ์ใหญ่ สำนักข่าวเดลิซันเดย์ แนะนำ เพื่อป้องกันแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เปิดเผย ตอนหนึ่งว่า
จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในไทยเริ่มเพิ่มขึ้น และหลายคนรู้สึกว่าเริ่มใกล้ตัวเข้ามาทุกที จนวิตกกังวลว่าตัวเองจะเสี่ยงแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าตัวเองสัมผัสใกล้ชิดกับบางคนที่เป็นแล้ว เรื่องนี้กรมควบคุมโรค มีข้อปฏิบัติ 10 ข้อ เพื่อจะได้ไม่แพร่ระบาดสู่คนอื่น
เริ่มจากนิยามก่อนว่าใครมีความเสี่ยง เรียกว่า เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายไว้ในเอกสาร คู่มือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้
ผู้สัมผัส ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยยืนยันหรือผู้ป่วยเข้าข่าย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้สัมผัสที่อาจเป็นแหล่งโรค ได้แก่ ผู้สัมผัสผู้ป่วยในช่วง 14 วันก่อนเริ่มป่วย และ 2.ผู้สัมผัสที่อาจรับเชื้อจากผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสผู้ป่วยนับแต่วันเริ่มป่วย ในกลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสสูงในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ประกอบด้วย 1.ผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามรดจากผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย
2.ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ป่วย และอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน
สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงดังกล่าว
เมื่อสำรวจแล้วพบว่าตัวเองเข้าเกณฑ์เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กรมควบคุมโรค มีคำแนะนำดังนี้
1.ควรหยุดเรียน หยุดงาน และอยู่บ้านจนครบ 14 วันหลังสัมผัสแหล่งโรค หรือผู้ป่วย
2.ควรนอนแยกห้อง ไม่ออกนอกบ้าน ไม่ไปที่ชุมชนสาธารณะ
3.รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น
4.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ
5.หากมีอาการไอให้สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจาม โดยปิดถึงคางแล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ทันที
6.เมื่ออยู่กับผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่นๆ ในบ้านประมาณ 1-2 เมตร หรืออย่างน้อย ประมาณหนึ่งช่วงแขน
7.หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ
8.ทุกคนในบ้านควรล้างมือบ่อยครั้งที่สุด เพื่อลดการรับและแพร่เชื้อ
9.ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 60-90 °C
10.เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือสมาชิกในบ้าน ภายในระยะเวลา 14 วัน หลังสัมผัสผู้ป่วย โดยวัดไข้และรายงานอาการต่อทีมสอบสวนโรคทุกวัน
ในกรณีที่ผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากปริมาณไวรัสที่ผ่านทางน้ำนม มีน้อยมาก แต่มารดาควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร
ทั้งนี้หากพบว่ามีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422 ทันที.
ฝ่ายข่าวสุขภาพ และสาธารณสุข
สำนักข่าวเดลิซันเดย์
ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ
จังหวัดลพบุรี