จากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสปอดอักเสบ หรือ COVID-19 และสถานการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำปัญหาภัยแล้ง ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นในห้วงเวลานี้เราจึงควรที่จะร่วมมือ รักสามัคคีกัน เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้
เรื่องมาตรการรองรับการระบาดของ COVID-19 เรามีหลายอย่างที่แตกต่างด้วยอัตลักษณ์ ความคิดความอ่าน จำนวนประชากร รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งคงนำมาเปรียบเทียบกับต่างประเทศไม่ได้มากนักในการทำงานของรัฐบาลและส่วนราชการขณะนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลจำเป็นต้องนำข้อมูลจากต่างประเทศ แนวทางการปฏิบัติที่เป็นสากล และข้อมูลต่าง ๆ ในประเทศมาพิจารณาร่วมกัน มีองค์ประกอบหลายอย่างหลายมิติที่ต้องช่วยกันแก้ไข ทุ่มเท เสียสละ ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ภาคสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ ต้องขอความกรุณาทุกส่วนช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ ด้วยความเข้าใจใคร่ครวญ คิดวิเคราะห์ รับฟังและเชื่อมั่น เรื่องใดที่เป็นปัญหารัฐบาลก็กำลังดำเนินการแก้ไข แต่หากยังคงมีการให้ข่าวบิดเบือน ให้ร้ายป้ายสีกันโดยจับแต่ประเด็นย่อย ๆ ในขณะที่ทุกหน่วย ส่วนราชการกำลังทำงานใหญ่แก้ไขปัญหาให้ประชาชนอยู่ ถึงแม้อาจสร้างความลำบากให้กับภาครัฐในการปฏิบัติงานบ้าง แต่แน่นอนยังคงต้องขับเคลื่อนทุกกลไกให้เกิดการประสานสอดคล้องซึ่งกันและกัน รัฐบาลมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย มาตรการลงไป โดยใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง ประกอบกับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เผชิญอยู่ ดังนั้นอยากจะขอร้องว่าถ้าอยากจะสื่อความหรือวิพากษ์วิจารณ์ก็ขอให้เป็นเรื่อง ๆ อย่างครบถ้วนทุกมุม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ไม่ใช่เอาแต่มองว่าล้มเหลวไปเสียทั้งหมด หรือรัฐบาลไม่มีความสามารถบ้าง ทุกคนควรต้องพิจารณาไตร่ตรองดูว่าขณะนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร เปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน ไม่ว่าจะการระบาดของ COVID-19 ภัยแล้ง ปัญหาความยากจน และอื่น ๆ หลายประเทศมีการปกครองแตกต่างกัน มีอำนาจตามกฎหมายต่างกัน ประชาชนเชื่อฟัง เคารพกฎหมายต่างกัน หลายคนอาจมองว่าเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย ขอให้พิจารณาดูว่าวันนี้เรามีประชาธิปไตยเต็มที่แล้วหรือยัง สื่อโซเชียลออกข่าวโดยเสรีหรือไม่ มีใครไปห้ามหรือปิดกั้นหรือไม่ถ้าไม่ผิดกฎหมาย หากเราใช้มาตรการทางสังคมเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ เสนอหนทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์
สำหรับเรื่องบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ทำงานกันอย่างเต็มที่ ทั้งการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่เสี่ยง การขุดเจาะน้ำบาดาล การจูงน้ำ การเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมถึงมาตรการเยียวยาต่าง ๆ อย่างไรก็ตามยังคงต้องทั้งกำกับดูแลทั้ง น้ำต้นทุน แหล่งกักเก็บน้ำ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ การเติมน้ำ การระบายน้ำ การขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งได้ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำมาแล้ว 5 ปี และจะสามารถเพิ่มการเก็บกักน้ำได้จานวนมากหากฝนตกตามพื้นที่ตามฤดูกาลที่คาดการณ์ไว้ ปัญหาสำคัญคือการดำเนินงานโครงการใหม่ ๆ ที่อาจต้องใช้เวลาบ้าง เนื่องจากจะต้องได้รับความยินยอมจากประชาชน และไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ก็ต้องขอความร่วมมือกันต่อไป
เรื่องเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องพึ่งพาการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของประชาชนเป็นหลัก รายได้ของรัฐคงมาจากภาษีที่เก็บจากรายได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต รายได้จากรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ อย่างไรก็ตามเราจะต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับอุปสงค์ อุปทาน การเกษตรก็ต้องสอดคล้องกับดิน สภาพอากาศ ความคุ้มทุน การค้าขายก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและวัฒนธรรมของผู้อุปโภคบริโภค หลายอย่างที่ต้องปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเวลานี้ที่เศรษฐกิจโลกก็ตกต่ำ สงครามการค้า ประกอบกับผลกระทบจากการระบาดโรค COVID-19 อีกด้วย รัฐบาลยืนยันจะดูแลพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด
การร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในห้วงนี้คงต้องดำเนินการในทุกเรื่องควบคู่กันไป อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือในการทำงานของรัฐบาลและส่วนราชการ เรื่องการระบาดของโรค COVID-19 อย่าได้ตื่นตระหนก มีสติ ระมัดระวัง รับผิดชอบรักษาสุขภาพตนเอง ผู้อื่น และสังคม รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นว่าเราทุกคนจะฝ่าฟันวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี ขอขอบคุณในความร่วมมือ สวัสดี
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ทีมข่าวเฉพาะกิจหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ