ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึง การลงพื้นที่ตรวจราชการและมอบนโยบายการจัดการศึกษาแก่ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ของหน่วยงานในกำกับดูแลในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ว่า “ตนมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการมาจังหวัดนครปฐมในวันนี้ เพื่อรับฟังข้อเสนอและประเด็นความต้องการจัดการศึกษาของสำนักงาน กศน.จังหวัดนครปฐม และการศึกษาเอกชนนครปฐม
ซึ่งเป็นหน่วยงานการศึกษาที่อยู่ในการกำกับดูแล ที่จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน ประชาชน และทุกภาคส่วน ให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น จากการตรวจเยี่ยมรู้สึกประทับใจในความตั้งใจและความสำเร็จในการขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ของหน่วยงาน ทั้ง 3 แห่ง ที่มุ่งมั่นส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายนักเรียน/นักศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน และประชาชนทั่วไปเกิดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาอาชีพ ศิลปะและวัฒนธรรมแก่คนในชุมชน
ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ตามความต้องการและความพร้อมของตนเอง ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี ในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และขอฝาก กศน.จังหวัดนครปฐมประสานความร่วมมือกับฝ่ายปกครองของจังหวัด ในการสนับสนุนข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ ตามที่ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ข้อสังเกตด้วย
ทั้งนี้ในด้านของการจัดการศึกษาของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก หรือวิทยาลัยในวัง ที่มีจุดเด่นเรื่องศิลปะไทยโบราณช่างสิบหมู่ และวัฒนธรรมไทยที่โดดเด่น เนื่องจากเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวใน กศน. ที่จัดการศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพศิลปะไทยโบราณช่างสิบหมู่และศิลปวัฒนธรรมไทย และส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น
ตนได้มีโอกาสพบผู้บริหารสถานศึกษาแห่งนี้หลายครั้ง ทำให้ได้รับทราบปัญหาความต้องการในการจัดการศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพศิลปะไทยในด้านต่างๆ เช่น การขอรับสนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับปรุงอาคารสถานที่และภูมิทัศน์โดยรอบ การสนับสนุนอุปกรณ์ และวัสดุฝึกให้แก่วิทยากร นักศึกษา ประชาชนในการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ รวมทั้งพิจารณาอัตรากำลังข้าราชการและบุคลากรที่ขาดแคลน
โดยตนจะรับไปเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และขอให้ทุกหน่วยงานเร่งใช้งบประมาณตามแผนงานที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งสำรวจและจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในที่ตั้ง และนอกที่ตั้ง ทั้งที่ใช้พื้นที่ของตนเองและอาศัยใช้โดยขอความอนุเคราะห์อาคารหรือสถานที่ของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลอีกช่องทางหนึ่งในการบริหารจัดการรวมถึงการพิจารณางบประมาณซ่อมแซมอาคารให้มีความพร้อมใช้งานมากขึ้นต่อไป”
สำหรับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) ได้จัดสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีภารกิจในการจัดการศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อสืบสาน อนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะไทยโบราณ ‘ช่างสิบหมู่’ และศิลปวัฒนธรรมไทยที่สร้างสรรค์มาจากภูมิปัญญาและความชำนาญที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษไทย ให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุน ประสานงาน การจัดฝึกอบรมวิชาชีพศิลปะไทยโบราณช่างสิบหมู่และศิลปวัฒนธรรมไทยกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
ตลอดจนศึกษา ค้นคว้า พัฒนา เผยแพร่เพื่ออนุรักษ์ พัฒนาหลักสูตร สื่อ กระบวนการเรียนรู้ สำหรับบุคลากรด้านวิชาชีพศิลปะไทยโบราณและศิลปวัฒนธรรมไทย โดย ‘ช่างสิบหมู่’ นี้หมายถึง กลุ่มช่างผู้ทำงานด้วยมือ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยโบราณ เช่น ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างปั้น ช่างปูน ช่างรัก ช่างหุ่น ช่างบุ ช่างกลึง และช่างหล่อ นอกจากนี้ภายในศูนย์ฯ ยังได้จัดแสดงผลงานไว้ให้ชม รวมทั้งมีสินค้าของที่ระลึกจากฝีมือนักศึกษาไว้จำหน่ายอีกด้วย
ดร.กนกวรรณฯ รมช.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “น่าปลื้มใจ ที่ศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีคุณค่าของเราได้มีหน่วยงานที่เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่งานศิลปะไทยโบราณที่ทรงคุณค่านี้ ให้คงอยู่ และถ่ายทอดไปสู่ประชาชนคนไทย รวมทั้งเป็นการสืบสาน เพื่อก่อให้เกิดการมีงานทำได้อย่างภาคภูมิ ดังนั้นหากมีสิ่งใดที่ตนจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดในการอนุรักษ์ สนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพอย่างยั่งยืนได้ รัฐมนตรีคนนี้ยินดี และพร้อมให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ทั้งนี้อยากให้พิจารณาหลักสูตรต่างๆที่จัดการเรียนการสอนขอให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ และอาจจะมีทั้งหลักสูตรในรูปแบบกลุ่มสนใจ เพื่อเป็นเสริมทักษะด้านศิลปะไทย เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และแบบชั้นเรียนวิชาชีพ เพื่อการมีงานทำ รวมทั้งขอฝากทั้ง กศน.และหน่วยงานการศึกษาทุกแห่ง ร่วมปลูกฝังและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความตระหนักและเห็นคุณค่าในศิลปะประจำชาติและวัฒนธรรมไทยให้อยู่คู่ชาติไทยของเราตลอดไป”
จากนั้น ดร.กนกวรรณฯ รมช.ศธ.ได้กล่าวในระหว่างการมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า “ตนขอเชิดชูครู กศน.เป็นครูพันธุ์พิเศษ ที่สามารถทำงานครอบคลุมได้ทุกอย่าง ภายใต้ความขาดแคลนในหลาย ๆ ด้าน อีกทั้งยังต้องทุ่มเท เสียสละมากเป็นพิเศษ ในการจัดการศึกษาและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษาในทุกพื้นที่ แม้กระทั่งพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร เพื่อเป็นการตอบแทนในการเสียสละ วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ครู กศน. 891 คน จะได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูอย่างแน่นอน โดยร้อยละ 20 ของจำนวนนี้ จะเน้นคัดเลือกเป็นครูที่มีความสามารถพิเศษด้านภาษา และภาษาอาเซียน ด้านการออกแบบ Innovation เทคโนโลยี และวิศวกรรม ที่จะบรรจุในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล เพื่อจะได้เป็นกำลังเสริมในการเข้ามาจัดและพัฒนาการศึกษาร่วมกับส่วนกลางต่อไป สำหรับปัญหาใบประกอบวิชาชีพครู ได้มีการหารือกับคุรุสภา และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ซึ่งพร้อมจะผลักดันการยกเว้นใบประกอบวิชาชีพ 2 ปี ในการสอบบรรจุครูผู้ช่วย เบื้องต้นจะประสานไปยังมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง เพื่อหาแนวทางในการจัดหลักสูตรและกำหนดอัตราพิเศษในการลงทะเบียนเรียนให้เหมาะสมต่อไป”
“นอกจากนี้ในด้านขวัญกำลังใจของครูเอกชนนั้น ตนก็มิได้นิ่งนอนใจ จากความสำเร็จในการผลักดันสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลและสิ่งที่ทุกท่านฝากไว้เพิ่มเติม เช่น ขอให้ครอบคลุมถึงบุพการี และบุตรหลานของท่าน ตนขอรับไว้และจะพยายามผลักดันให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการผลักดันการพัฒนาบุคลากรในการอบรมต่างๆ ที่ผ่านมานั้น ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่ตนพยายามผลักดันปัญหาต่างๆเพื่อครูเอกชน ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่ครูเอกชนหลายจังหวัดเรียกร้องเข้ามามากอีกเรื่อง คือ การแก้ไขหลักเกณฑ์ในการกู้กองทุนสงเคราะห์ ซึ่งมันเป็นกฎหมายเฉพาะ และเรากำลังอยู่ระหว่างหารือ จากปัจจุบันครูเอกชนอายุงาน 10 ปี สามารถกู้ได้ร้อยละ 70 ของเงินสะสมและเงินสมทบที่นำส่งเข้ากองทุนฯ ว่าจะสามารถลดอายุงานเหลือ 7 ปีหรือ 5ปี แล้วสามารถกู้ได้ร้อยละ 80 หรือ 85 ของเงินสะสมและเงินสมทบที่นำส่งเข้ากองทุนฯได้นั้น แล้วดอกเบี้ยจะอยู่ที่เท่าไหร่ เหมาะสมหรือไม่ อยากให้ทางการศึกษาเอกชนหรือสช.ไปศึกษาแนวทางร่วมกัน ซึ่งตรงนี้ตนไม่ได้สนับสนุนให้ครูเอกชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น แต่ตนก็เข้าใจความจำเป็นพื้นฐานของแต่ละคนที่ต่างกัน ดังนั้นจึงต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกด้าน ว่าจะกระทบหรือมีผลดี ผลเสียอย่างไร ขอให้ครูเอกชนคิดถึงผลจากการกู้ที่จะตามมาในระยะสั้นและระยะยาวให้มากในการกู้ยืมที่เกิดขึ้นด้วย”
ดร.กนกวรรณฯ รมช.ศธ. ได้กล่าวถึงทัศนคติของลักษณะของครูไทยในอนาคต ว่า “คุณสมบัติของครูไทยต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ การเป็นครูเหมือนเป็นพ่อแม่คนที่สองของเด็กเพราะฉะนั้นต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก คุณลักษณะของความเป็นครูไทยจะต้องอนุรักษ์ และเชิดชูสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสามารถพัฒนาตนเองอยู่เสมอให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สติปัญญา ในการทำทุกอย่างเพราะจะต้องเป็นแบบอย่างให้คนทั้งประเทศไทย” ดร.กนกวรรณฯ กล่าว
Cr.ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ , กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ : ปรานี บุญยรัตน์ , ณัฐวุฒิ วากะดวน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน