ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์รังสิต ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และประธานคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 กล่าวว่า จากสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 แพร่ระบาดจนนำไปสู่ความกังวลของสังคมไทยในภาพกว้างนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะมหาวิทยาลัยของประชาชนและมีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข จึงได้จัดตั้งคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับสถานการณ์อย่างทันท่วงที โดยคณะทำงานดังกล่าวจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภายในและภายนอก อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระ
เกียรติคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และการวิจัยขั้นสูง ที่สำคัญคือทีมคณะทำงานควบคุมและป้องกันไวรัสโคโรนา 19 นักศึกษาจิตอาสา และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ออกมารับใช้สังคม โดยในวันอังคารที่ 10 มีนาคม 2563 นี้ จะมีการเปิดตัวหน้ากากอนามัยต้นแบบ รุ่น “Thammask” ซึ่งผลิตจากวัสดุผ้าสะท้อนน้ำที่สามารถใช้ซ้ำได้ถึง 30 ครั้ง ซึ่งหน้ากากดังกล่าวได้ผลิตจากวัตถุดิบในประเทศ และใช้นวัตกรรมผลิตอื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งหน้ากากที่มีคุณสมบัติป้องกันการแพร่เชื้อ ไม่ดูดซับความชื้น และสามารถทำความสะอาดหรือซักเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำได้ การทดสอบคุณสมบัติของหน้ากากสะท้อนน้ำ เพื่อให้มั่นใจในมาตรฐาน ผ่านการทดสอบ ความสามารถในการกันน้ำ และรั่วซึมของฝอยละอองโดยใช้เครื่อง gas chromatography , ทดสอบผ้าโดยใช้เครื่อง FTIR Microscope ดูชนิดของผ้าว่าเป็นแบบไหน และเครื่อง SEM ดูขนาดของรูผ้า , ทดสอบความกระชับกับใบหน้า (Mask Fitting Test) เบื้องต้นตั้งเป้าหมายการผลิตไว้ที่ 400 ชิ้น จากนั้นจะนำมาทดสอบประสิทธิภาพหากผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะผลิตเพิ่มอีก 1,000 ชิ้นทันที เพื่อแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนต่อไป นอกจากนี้มหาวิทยา
ลัยธรรมศาสตร์ยังร่วมมือกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการผลิตเจลล้างมือที่ไม่มีสารก่อให้เกิดการแพ้ เพื่อแจกจ่ายให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยด้วย ขณะที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการไวรัสโควิค-19 แบบครบวงจร หรือ One stop service COVID-19 ขึ้น ทำหน้าที่ตรวจ ประเมิน รักษา อย่างครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการด้วย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยยังคงดำเนินการตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรค โดยมีการออกประกาศมาตราการและคำแนะนำการป้องกันฯ แก่นักศึกษาและบุคลากร อาทิ การคัดกรองเข้าอาคารด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ รวมถึงการแจกหน้ากากและเจลล้างมือในกรณีนักศึกษาจัดกิจกรรมตามสิทธิเสรีภาพด้วยความเหมาะสมเรียบร้อย ตลอดจนการเตรียมสถานที่เพื่อสังเกตอาการ คัดกรองผู้ป่วย และให้เจ้าหน้าที่ บุคลากร ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดต้องกักตัว 14 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา
ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน