กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม “อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล” จังหวัดตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ เพื่อแก้แล้ง-อุทกภัย ช่วยเกษตรกร ชี้จุด 3 โครงการเหมาะสม ได้แก่ โครงการอาคารบังคับน้ำบ้านแม่ยะ,โครงการอาคารบังคับน้ำวังยาวหนองขวัญ และโครงการอาคารบังคับน้ำคลองกระถิน
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ของพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพลจนถึงจุดบรรจบของแม่น้ำปิง กรมชลประทานได้ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำท้ายเขื่อนภูมิพล ในพื้นที่จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์ เบื้องต้นได้มีการเสนอโครงการดังกล่าว เข้าไปอยู่ในแผนหลักของการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพลแล้ว จำนวน 14 โครงการ ได้แก่ โครงการในพื้นที่จังหวัดตาก 7 โครงการ,จังหวัดกำแพงเพชร 5 โครงการ และจังหวัดนครสวรรค์ 2 โครงการ
สำหรับโครงการที่มีความเหมาะสม ทั้งในด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม สังคม และด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเข้าข่ายโครงการที่ต้องศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ได้รับคัดเลือกอยู่ 3 โครงการ ได้แก่
1) โครงการอาคารบังคับน้ำบ้านแม่ยะ 2) โครงการอาคารบังคับน้ำวังยาวหนองขวัญ และ
3) โครงการอาคารบังคับน้ำคลองกระถิน โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการตามแผนมาตั้งแต่ปี 2562 และจะสิ้นสุดในปี 2563 (ระยะเวลาปฏิบัติงานรวม 540 วัน จาก 10 เมษายน 2562-30 กันยายน 2563)
โดยโครงการที่ 1) อาคารบังคับน้ำบ้านแม่ยะ อยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดกำแพงเพชร เป็นฝายคอนกรีตพร้อมบานระบาย มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 32,600 ไร่ ครอบคลุม 3 ตำบลได้แก่ ตำบลเกาะตะเภา ตำบลตากออก และตำบลตากตก
2) อาคารบังคับน้ำวังยาวหนองขวัญ ในพื้นที่ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นฝายคอนกรีตพร้อมบานระบาย พื้นที่รับประโยชน์รวม 601,585 ไร่ และ
3) อาคารบังคับน้ำคลองกระถิน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เป็นฝายคอนกรีตพร้อมบานระบาย พื้นที่รับประโยชน์รวมประมาณ 112,500 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ 8 ตำบล ได้แก่ อำเภอบรรพตพิสัย ตำบลบางตาหงาย ตำบลหนองกรด ตำบลเจริญผล ตำบลท่างิ้ว ตำบลตาลิง, อำเภอเก้าเสี้ยว ตำบลหัวดง ตำบลหนองเต่า และอำเภอชุมแสง ตำบลบางเคียน
ทั้งนี้ การที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว จะต้องสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบถึงความก้าวหน้าและเผยแพร่ข้อมูลอย่างละเอียดถูกต้อง เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะเป็นแหล่งน้ำในฤดูแล้งที่เกษตรจะสามารถใช้น้ำในการเพาะปลูกพืชเกษตร อุปโภค-บริโภค ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ ทั้งยังสามารถบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน