วัชระฯ พร้อมหนุน “ชาวนครนายก” ค้านตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์..
วันนี้ (25 ก.พ.63) นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายกได้ดำเนินการ “โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม” ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย โดยได้ทำเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 หรือที่เรียกกันว่าเวที ค.1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ขณะนี้ได้ผ่านการรับฟังแบบเจาะลึกที่เรียกว่า เวที ค.2 รวมทั้งทำเวที ค.3 ซึ่งเป็นเวทีการรับฟังความเห็นเวทีสุดท้ายในวันที่ 14 มีนาคม 2562 ไปแล้ว แต่ยังมีประเด็นปัญหาในหลายเรื่อง ดังนั้น ภาคประชาสังคมชาวนครนายก จึงต้องขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเรียกร้องให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้สอบสวนกระบวนข้อเท็จจริงกรณีการแจกเงิน 200 บาทและผ้าห่มที่มีโลโก้ สทน. ในการรับฟังความเห็นในเวที ค.1 ว่าขัดกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของ ประชาชน พ.ศ.2548 ที่การแสดงออกของประชาชนต้องมีอิสระทางความคิด นอกจากอันเนื่องด้วยระเบียบนี้การรับฟังในเวที ค.1 ไม่ครอบคลุม “ผู้มีส่วนได้เสีย” ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับทราบกระบวนการดังกล่าว จึงขอให้ดำเนินการสอบส่วนว่าการกระทำดังกล่าวคือการแจกเงินและสิ่งของและไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของ ประชาชน พ.ศ.2548 หรือไม่ การแจกเงินและสิ่งของอยู่ใน TOR ของการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาหรือไม่ส่วนใด และใช้งบประมาณของส่วนใดในการแจก เป็นการใช้งบประมาณผิดประเภทหรือไม่ ขอให้ส่งรายละเอียดผลการพิจารณาสอบสวนให้ได้รับทราบโดยเร็วขณะเดียวกันก็ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสั่งยุติเวทีรับฟังความเห็นดังกล่าว เนื่องจาก
1. ส่วนราชการยังไม่เคยตอบปัญหาการขัดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของ ประชาชน พ.ศ.2548 ในกระบวนการรับฟังความเห็นในเวที ค.1 ที่เคยสอบถามไว้หลายครั้งแล้ว
2. การรับฟังความเห็นของประชาชนต่อผลกระทบของโครงการเป็นการทำลัดขั้นตอน ซึ่งตามกระบวนการมาตรฐานของ IAEA ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกแล้วจะต้องมีกระบวนการระบุสถานที่สร้างที่หลากหลายและกระบวนการคัดเลือกด้วยเกณฑ์การคัดเข้าและคัดออกก่อน แต่โครงการดังกล่าวไม่มีกระบวนการนี้
3. ในกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ไม่มีการนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อนเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ซึ่งผิดหลักการรับฟังความเห็นต่อผลกระทบของโครงการ
4. โครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขัดกับกฎหมายทางด้านนิวเคลียร์ของประเทศไทย
5. โครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขัดกับแผนยุทธศาสตร์ของการพัฒนาจังหวัดนครนายกที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวและที่พักอาศัยและเป็นปอดของคนกรุงเทพ
6. พื้นที่ตั้งของโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ มีปัญหาน้ำท่วมถึง นำ้ใต้ดินตื้น ดินอ่อน อยู่ในเขตรอยเลื่อนของเปลือกโลก และใกล้แม่น้ำนครนายกทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของสร้างรังสี ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และชื่อเสียงของจังหวัด
นายวัชระ เพชรทอง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ศาลากลางจังหวัดนครนายกด้วย กล่าวย้ำว่าพร้อมสนับสนุนข้อเรียกร้องและยินดีร่วมต่อสู้เคียงข้างชาวนครนายกในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยหย่อนยานในเรื่องมาตรฐานสากลหรือไม่ อย่างเช่นเรื่องไฟป่ายังควบคุมไม่ได้ แล้วนี่คือมหาไฟนิวเคลียร์ จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆที่หน่วยงานของรัฐจะเร่งโครงการแบบมักง่าย ทั้งที่เป็นความเป็นความตายของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะชาวนครนายกเท่านั้น อีกทั้งจะมาอ้างว่าเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้ เพราะประชาชนไม่ได้อนุมัติ
ด้านนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก เป็นประธานรับฟังข้อเรียกร้องของชาวบ้าน และขอให้ชาวบ้านคัดค้านด้วยสติปัญญา มีเหตุผล จังหวัดจะส่งข้อเรียกร้องของชาวบ้านไปยังส่วนกลางต่อไปและนายศิริพงศ์ยืนยันว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เคยรับเงินทอนแต่ประการใด..
——-
> คนบ้านเราปลื้มถนอม รายงาน