วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 9.30 น. : ในระหว่างการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของค่ายลูกเสือจังหวัดอุบลราชธานี (บ้านหนองไหล) นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้อันเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.2514 ขับร้องโดย หรั่ง ร็อคเคสตร้า เพื่อปลุกใจลูกเสือเนตรนารี ตลอดจนผู้บริหาร และผู้บังคับการลูกเสือ ที่มาให้การต้อนรับ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นบึกแผ่นจนถึงทุกวันนี้ และจะอยู่ยั่งยืนยงต่อไปอย่างไร เป็นหน้าที่ของเด็ก เยาวชน คนรุ่นหลัง ที่จะต้องสืบสาน พัฒนา และต่อยอดต่อไป
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า “กิจการลูกเสือ เกิดจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระบิดาแห่งลูกเสือไทย เพื่อใช้กระบวนการลูกเสือในการฝึกระเบียนวินัย ทักษะชีวิต และสร้างความสามัคคีแก่เด็กและเยาวชน ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศที่มีความสมบูรณ์พร้อมรอบด้าน และมีการสืบสาน รักษา ต่อยอดกิจการลูกเสือในทุกรัชสมัย มาจนถึงในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน
จึงถือได้ว่า กระบวนการลูกเสือ เป็นกิจกรรมแห่งเกียรติยศ ที่จะต้องฝึกฝนและปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนของเรา ยึดมั่นคำปฏิญาณและปฏิบัติตามกฎของลูกเสือด้วยหัวใจ สวมใส่เครื่องแบบและเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งยังต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเป็นมา ความเสียสละของพระมหากษัตริย์และบรรพบุรุษไทย พร้อมเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ และนำพาประเทศไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน”
“วันนี้ตั้งใจเดินทางมาเยี่ยมชมผลการดำเนินกิจการลูกเสือ ของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งด้วยสไตล์การทำงานของรัฐมนตรีคนนี้ ไม่ว่าจะไปที่ใด ก็ต้องการจะสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่นั้นให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้พยายามผลักดันการดำเนินงานและงบประมาณตามความต้องการให้มากที่สุด ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 ได้กำหนดโครงการและแผนงานเพื่อพัฒนาค่ายลูกเสือแห่งนี้ กว่า 3.6 ล้านบาท เมื่อได้รับงบประมาณแล้ว ขอให้เร่งใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและทันตามกำหนดเวลา ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัด เพราะเรื่องของการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน ไม่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น และที่สำคัญคือ เป็นเรื่องที่รอเวลาไม่ได้
ในส่วนของนโยบายพัฒนาศักยภาพลูกเสือใน “โครงการลูกเสือมัคคุเทศก์” (Guide Scout) รุ่นที่ 1 ใน 8 จังหวัดนำร่อง เพื่อสร้างเสริมหลักการมัคคุเทศก์ การสื่อสารภาษาอังกฤษ ความรู้พื้นฐานของพื้นที่ เรื่องเล่าเรื่องราวในท้องถิ่น จิตวิทยาการให้บริการ และจิตอาสาของลูกเสือมัคคุเทศก์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกเสือ ทั้งการทำหน้าที่ในท้องถิ่นชุมชน ไปจนถึงการเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมกิจการและกิจกรรมลูกเสือในเวทีนานาชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลโครงการรุ่นแรก ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการดำเนินโครงการรุ่นที่ 2 ที่ดียิ่งขึ้น และลูกเสือเนตรนารีจังหวัดอุบลราชธานี จะได้รับโอกาสในการเข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 2 จึงฝากให้ครูและผู้บริหาร ช่วยกันส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยเน้นทักษะการพูดเป็นอันดับแรก ที่จะต้องฝึกให้เด็กกล้าพูดทั้งในโรงเรียน ห้องเรียน หรือในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านภาษา ซึ่งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
ส่วนครูและผู้บริหาร จะต้องเข้ารับการอบรมลูกเสือ และสวมใส่เครื่องแบบอย่างถูกต้องในวันที่มีกิจกรรม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน พร้อมปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้แก่ลูกเสือเนตรนารี ที่จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความเหนื่อยยากและเสียสละของพระมหากษัตริย์ และบรรพบุรุษไทย ซึ่งเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ ถ่ายทอดเนื้อหาแสดงถึงความรักที่มีต่อประเทศชาติอย่างลึกซึ้ง งดงาม จึงควรอัญเชิญเพลงความฝันอันสูงสุดมาถ่ายทอด เพื่อปลูกฝังแก่เด็กและเยาวชนลูกเสือไทย ผู้ซึ่งจะนำพาชาติของเราไปสู่ความเจริญ และคงอยู่ยั่งยืนยงตราบนานเท่านาน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าวทิ้งท้าย
Cr.นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน