“จาตุรนต์” FB เพิ่งรู้ข่าว ตร.เชียงใหม่ แจ้งจับภรรยา ยันไม่เกี่ยวข้อง พร้อมสู้คดี เตรียมฟ้องกลับคนทำให้เสียหาย – ชวน ปชช.ช่วยกันป้องกันการโกงประชามติ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Chaturon Chaisang” ว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตำรวจเชียงใหม่แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ให้ดำเนินคดี นางจิราภรณ์ ฉายแสง ภรรยา ในข้อหาช่วยเหลือผู้อื่นกระทำผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมิใช่ความผิดลหุโทษเพื่อไม่ให้ต้องโทษโดยให้ที่พำนักโดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยกระทำการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม
โดย นางจิราภรณ์ ต้องสงสัยมีส่วนร่วมในการช่วยซ่อนเร้นแก่ นายวิศรุต คุณะนิติสาร ผู้ต้องหากระทำความผิด พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญหลบหนีคดีที่มีการนำจดหมายบิดเบือนแจกจ่ายทางไปรษณีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยพาไปฝากที่วัดสระเกศวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายนั้น ส่วนตัวเพิ่งทราบเรื่องนี้จากข่าวหนังสือพิมพ์เท่านั้น และภรรยาฝากแจ้งให้ทราบทั่วกันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซ่อนตัวของ นายวิศรุต แต่อย่างใด กำลังรอฟังว่าจะมีการตั้งข้อหาใดหรือไม่ และจะมีหมายเรียก หรือหมายจับเมื่อใด หากมีหมายเรียก ก็พร้อมที่จะไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสู้คดี เพื่อยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธ์ทุกเมื่อ และเตรียมฟ้องกลับผู้ที่ใส่ร้าย ให้การเท็จหรือกระทำใด ๆ ให้เสียหายด้วย
นายจาตุรนต์ ยังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การป้องกันการทุจริตที่หน่วยออกเสียงลงคะแนนยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าปล่อยให้มีการโกงกันตามสบาย ก็อาจถึงขั้นพลิกผลตัดสินการลงประชามติในครั้งนี้ได้ ที่เป็นปัญหา และน่าเป็นห่วง คือ ที่หน่วยออกเสียง ไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าไปนั่งในหน่วยเหมือนการเลือกตั้ง ส.ส.
ดังนั้น การป้องกันจึงทำได้ด้วยการเฝ้าดูอยู่ข้างนอก ไม่ให้โกง เช่น 1.ลงคะแนนแทนกัน 2.ลงวน (ลงแล้วลงอีก) 3.กรรมการกาให้ หรือ 4.เอาบัตรที่กาไว้แล้วมาใส่หีบหรือเปลี่ยนกับบัตรในหีบ 5.การอ่านบัตรไม่ตรงกับความเป็นจริง 6.การนับคะแนน และการจดบันทึกไม่ถูกต้อง หรือไปเปลี่ยนที่ปลายทาง เป็นต้น
ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ ระบุ วิธีป้องกันที่ทำได้ดีที่สุด คือ มีคนเฝ้าหน้าหน่วย พร้อมมีโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มีกันส่วนใหญ่อยู่แล้ว ช่วยกันเตรียมถ่ายวิดีโอ หรือถ่ายภาพอะไรก็ตามที่ผิดปกติ และถ่ายภาพผลการนับคะแนนเก็บไว้ แล้วหาทางส่งข้อมูลทางออนไลน์ ไปยังสื่อมวลชน หรือไลน์กลุ่ม ที่สามารถส่งต่อไปยังองค์กรที่เข้าสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล ก่อนทิ้งท้ายว่า สมัยก่อนเคยมีม็อบมือถือสู้กับเผด็จการ ซึ่งคราวนี้ประชาชนจะใช้สมาร์ทโฟนป้องกันการโกง ถ้าไม่พลิกเพราะถูกโกง ผลก็จะออกมาเป็นมติของประชาชนจริง ๆ