กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2563 อย่างเป็นทางการ ขนทัพอากาศยาน นักบิน นักวิทยาศาสตร์ ตั้งหน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และพี่น้องประชาชน 11 หน่วยฯ ทั่วประเทศ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.00 น.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2563 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนเหล่าทัพ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 มีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ส่งผลกระทบเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงเขื่อน/อ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อย
ในขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วมากขึ้น จากปกติที่มีการเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 1 มีนาคม ของทุกปี มาเป็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ในวันนี้
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยน้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงปฏิบัติภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับในปี 2563 มีแผนปฏิบัติการประจำปีตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ ประกอบด้วยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยมีฐานเติมสารฝนหลวง 5 ฐาน เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด
ตามแผนการดัดแปรสภาพอากาศ ดังนี้
1.ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562–วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 ใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 6 ลำ
2.ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในระยะวันที่ 3-16 กุมภาพันธ์ 2563 ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 ใช้อากาศยานรวมทั้งหมด 12 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 8 ลำ และอากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 4 ลำ
3.ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป รวมจำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ที่ จ.เชียงใหม่,จ.พิษณุโลก,จ.นครสวรรค์,จ.กาญจนบุรี,จ.ขอนแก่น,จ.อุดรธานี,จ.บุรีรัมย์,จ.อุบลราชธานี,จ.ระยอง,จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และจ.สุราษฎร์ธานี ใช้อากาศยานรวมทั้งหมด 29 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 22 ลำ,อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ และอากาศยานของกองทัพบก จำนวน 1 ลำ โดยเปิดฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 5 ฐาน ที่ จ.ตาก,จ.ลพบุรีจ.สกลนคร,จ.จันทบุรี และจ.สงขลา (หาดใหญ่)
นายสุรสีห์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมภายในงานพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2563 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงในจังหวัดนครสวรรค์ อาทิเช่นผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์,ผู้แทนผู้บัญชาการเหล่าทัพ,ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,ข้าราชการ และแขกผู้มีเกียรติ ตลอดจนเกษตรกร อาสาสมัครฝนหลวง ร่วมงานในครั้งนี้ และภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ความเป็นมาโครงการฝนหลวง แผนปฏิบัติการฝนหลวง ช่องทางการติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และนิทรรศการของหน่วยงานร่วมบูรณาการจากกองทัพอากาศ,สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ,กรมชลประทาน,กรมทรัพยากรน้ำ,กรมทรัพยากรน้ำบาดาล,สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตลอดจนมีพิธีปล่อยคาราวานเครื่องบินฝนหลวง เพื่อออกปฏิบัติการ และไปประจำการทั้ง 5 ภูมิภาคอีกด้วย
Cr.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน