พิธีประดิษฐานรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาปานที่เมืองแบรสต์ ฝรั่งเศส
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสได้เผยแพร่ข่าวสารว่าเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ที่ผ่านนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ได้ร่วมกับสมาคมครูสอนภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย (สคฝท.) ชาวไทยในฝรั่งเศส และเมืองแบรสต์ รวมทั้งคณะกระทรวงวัฒนธรรม และทุกท่านที่ได้เดินทางมาจากประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดพิธีประดิษฐานรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาปานที่เมืองแบรสต์ ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งของมิตรภาพไทย-ฝรั่งเศส โดยเชื่อมั่นว่ารูปปั้นโกษาปานจะเป็นหลักฐานของมิตรภาพไทย-ฝรั่งเศสตลอดไป
โดยรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาปานเป็นโครงการริเริ่มโดยสมาคมครูสอนภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย (สคฝท.) เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ ๓๓๓ ปีราชทูตสยามเยือนฝรั่งเศส ซึ่งคณะราชทูตได้ขึ้นท่าที่เมืองแบรสต์ ก่อนเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๒๒๙ และได้เดินทางกลับสยามเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๒๓๐ โดยขึ้นเรือที่ท่าเรือเมือง Brest เช่นกัน
ปัจจุบัน นับได้ว่าเมืองแบรสต์เป็นเมืองที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงมิตรภาพของไทยและฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากที่สุดในฝรั่งเศส นับแต่การตั้งชื่อถนนสายหลักของเมืองว่า “ถนนสยาม” ตั้งชื่อสถานีรถ Tramway ว่า “สยาม” และมีหุ่นจำลองของคณะราชทูตที่พิพิธภัณฑ์ประจำเมือง (พิพิธภัณฑ์ Tour Tanguy) และยังมีรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาปานตั้งอยู่ด้วย โดยเมืองแบรสต์ได้เสนอให้ประดิษฐานรูปปั้นที่หัวมุมถนน Louis Pasteur ตัดกับถนน Ducouëdic ซึ่งเป็นจุดที่โกษาปานได้ขึ้นท่าที่เมืองแบรสต์เมื่อกว่า ๓๐๐ ปีที่แล้ว และยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนสัญจรผ่านจำนวนมากเนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานีรถกระเช้าไฟฟ้าเพื่อข้ามฝั่งไปยัง les ateliers des capucins ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะจัดกิจกรรมต่างๆ ของชาวเมืองแบรสต์
กิจกรรมต่างๆ ของวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ได้เริ่มขึ้นจากพิธีประดิษฐานรูปปั้นโกษาปานเวลา ๑๑:๐๐ น.โดยมีบุคคลสำคัญของฝรั่งเศสเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ นาย François Cuillandre นายกเทศมนตรีของเมืองแบรสต์ นาย Ivan Bouchier รองผู้ว่าการจังหวัด Finistère นาย Thierry Mathou อธิบดีกรมเอเชียและโอเชียเนีย กระทรวงยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส และยังมีประชาชนชาวไทยซึ่งเดินทางมาจากทั่วทุกหนแห่งในฝรั่งเศสและจากประเทศไทยเข้าร่วมงานด้วย เคียงข้างกับชาวเมืองแบรสต์อีกเป็นจำนวนมาก จากนั้นได้รำกลองยาวไปจนถึงที่ทำการเมืองแบรสต์เพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งมีการแสดงวัฒนธรรมของไทยจากกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร และมีการสาธิตการนวดไทยซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้โดยยูเนสโกเมื่อปีที่แล้วอีกด้วย
ขอขอบคุณเรื่องและภาพจากสถานเอกอัคราชทูตประเทศไทย ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส
ออกญาโกษาธิบดี มีชื่อเดิมว่า ปาน เป็นน้องชายของออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ซึ่งดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่างปี พ.ศ. 2200-2226 ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระวิสุทธสุนทร (ปาน) ในสมัยที่โกษาปานดำรงตำแหน่งเป็นพระวิสูตรสุนทรได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในสมัยดังกล่าวฝรั่งเศสมีอิทธิพลในราชสำนักของพระนารายณ์มาก จุดประสงค์ของฝรั่งเศส คือ การเผยแพร่คริสต์ศาสนา และพยายามให้พระนารายณ์เข้ารีตเป็นคริสต์ชนด้วย รวมทั้งยังพยายามมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยา ด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอกและเมืองมะริด
โกษาปานเดินทางไปกับเรือฝรั่งเศสเมื่อธันวาคม พ.ศ. 2228 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 และเดินทางกลับเมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2230 รวมเดินทางไปกลับอยุธยาฝรั่งเศสทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน โกษาปานเป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกที่ได้พบเห็นในการเดินทางครั้งนั้น
สำหรับการเข้าเฝ้าในครั้งนี้ ออกพระวิสุทธิ์สุนทร (ปาน) ได้กระทำหน้าที่เป็นผู้แทนของราชสำนักอยุธยาอย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีการเข้าเฝ้า จนชาวฝรั่งเศสได้กล่าวยกย่องชื่นชมคณะทูตไทย ซึ่งถือว่าการไปเจริญสัมพันธไมตรีครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
การเจริญสัมพันธไมตรีของพระวิสุทธิ์สุนทร (ปาน) และคณะราชทูตในครั้งนั้นได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในทวีปยุโรป เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินทางด้านตะวันออกแต่งคณะราชทูตไปยังสำนักฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยส์ทรงจัดการรับรองคณะราชทูตจากกรุงศรีอยุธยาอย่างสมเกียรติยศ และโปรดให้จัดทำเหรียญที่ระลึก และมีการเขียนรูปราชทูตไทยเข้าเฝ้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสเป็นที่ระลึกด้วย
ปลายสมัยของพระนารายณ์มีความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส) ในหมู่ขุนนางไทยและพระสงฆ์ พระเพทราชา เจ้ากรมช้าง (ซึ่งต่อมาเป็นกษัตริย์องค์ที่ 28 ของอยุธยา) ทรงเป็นผู้นำในการต่อต้านครั้งนี้ โกษาปานได้เข้าเป็นฝ่ายของพระเพทราชา เมื่อพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ โกษาปานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจากับนายพลฝรั่งเศสที่คุมป้อมอยู่ที่เมืองบางกอกให้ถอนทหารออกไปจากอาณาจักรไทยได้สำเร็จ
ใจรัก วงศ์ใหญ่
ปิยภัทร สินสุบรรณศิริวงศ์วัชระ
สำนักข่าวเดลิซันเดย์
ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ
จังหวัดลพบุรี