วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 : พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบช.ก.กล่าวถึงกรณีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการควบคุมเหตุการณ์เช่นกรณีที่เกิดขึ้นที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ว่า สำหรับเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์นั้นต้องถือว่าเราพร้อมหมด เพราะเป็นนโยบายของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ที่ให้จัดหาให้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษทั่วประเทศ แต่สิ่งที่ยังขาดก็จะเป็นในส่วนอุปกรณ์ที่เป็นอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยี ที่ไฮเทค ที่จะช่วยในการปฏิบัติ ซึ่งทางผบ.ตร.ให้หาสิ่งเหล่านี้มาช่วย แต่อย่าให้บอกว่าเป็นอะไรบ้าง ทางเราเห็นจากหน้างานแล้ว เราจะรู้ว่าจริงๆ แล้ว เราขาดอะไร ที่จำเป็นที่จะต้องใช้เสริม ช่วยในการพิสูจน์ทราบตัวคนร้าย
พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ฯ กล่าวอีกว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ สิ่งที่ท่าน ผบ.ตร.มอบหมาย ก็คือให้ไปจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ เช่น โดรน ตรวจจับความร้อน ในการค้นหาตัวคนร้าย อย่างที่เราจะเห็นแล้วในข่าวทางสื่อมวลชนที่มีการเผยแพร่ ซึ่งจะจับพิกัดได้เพราะจริงๆ แล้ว ในเวลาปกติโดรนที่เราใช้ เราจะเห็นข้อบกพร่อง เห็นขีดจำกัดของโดรนธรรมดา ที่ไม่สามารถจะใช้บินในอาคารได้ รับสัญญาณจีพีเอสไม่ได้ มันก็จะต้องเป็นโดรนที่เป็นโดรนลักษณะพิเศษ ให้เหมาะกับสถานที่ นี่ยกตัวอย่าง
รอง ผบช.ก.กล่าวต่อว่า สำหรับอุปกรณ์อื่นๆ นั้น คงต้องขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียด ส่วนกรณีโดรนธรรมดา มันมีข้อจำกัดแล้วมันไม่สามารถรับสัญญาณจีพีเอส ได้ มันก็ขึ้นบินไม่ได้ บางที่ถูกล็อกไว้กับระบบจีพีเอส มันก็จะบินที่อับสัญญาณไม่ได้ ส่วนในต่างประเทศนั้น มีอุปกรณ์พิเศษที่เราน่าจะศึกษาเพื่อใช้สำหรับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของประเทศไทย จริงๆ อุปกรณ์มันก็มีเกือบครบ แต่ลักษณะของการปฏิบัติงานในแต่ละหน้างาน มันเจอปัญหาที่แตกต่างกัน
“มีเรื่องข้อจำกัดของสถานที่ ลักษณะของตัวคนร้าย หรือองค์ประกอบ ปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง ก็จะเป็นบทเรียนให้กับเราที่จะต้องมาหาวิธีการแก้ไขปัญหาของแต่ละเหตุ ไม่มีอะไรที่จะเพอร์เฟ็กซ์ ทั้ง 100% เราก็จะต้องเจอเคสที่จะได้เรียนรู้ว่ามีความจำเป็นในส่วนไหน จะต้องใช้อะไร เมื่อเจอหน้างานจริงแบบนี้แล้ว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็จะพบว่าเราขาดอุปกรณ์อะไร ก็พอดีมีเรื่องโดรนที่ท่าน ผบ.ตร.เห็น เราก็เลยรับที่จะไปจัดหา” พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ฯ กล่าว
พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตนมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ จึงได้ไปเห็นอุปกรณ์ต่างๆ ที่ดูแล้วเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะกับหน่วยคอมมานโด แต่เป็นประโยชน์ในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะต้องจัดหาไว้ให้สำหรับทุกหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ได้ใช้ แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วย ท่าน ผบ.ตร.ก็มองในภาพรวมเลย ไม่เฉพาะเจาะจงให้หน่วยใดหน่วยหนึ่ง แต่ท่านมองว่าทุกคนจะต้องได้ใช้ในสิ่งที่ดี และสามารถที่จะเซฟชีวิตผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปลอดภัยที่สุดเมื่อออกปฏิบัติหน้าที่
พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ฯ กล่าวเสริมว่า โดยปกติทางเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษได้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ เมื่อต้องเข้าระงับเหตุในกรณีเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องการฝึกอบรม เราได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกในหลักสูตรแอ็คทีฟชู้ตเตอร์ของหน่วยเอฟบีไอ สหรัฐอเมริกา มาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นการเทรนครูฝึกเลย แล้วเราก็ได้ทำวิชาตัวหนึ่ง ที่เรียกว่า “เอซิม” เพื่อสอนข้าราชการตำรวจ โดยมีการฝึกฝนและอบรมกันมาประมาณ 100 รุ่น และในวันที่ 17 ก.พ.นี้ จะมีการฝึกอบรมชุดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 84 นาย จากหน่วย นปพ.ทั่วประเทศ โดยมีครูฝึกจากสหรัฐอเมริกา มาสอนให้กับครูฝึกเรา ที่ค่ายนเรศวร
รอง ผบช.ก.กล่าวด้วยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะนำกรณีต่างๆมาเทียบเคียงเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เหตุคนร้ายชิงทองที่ร้านทองออโรน่า ภายในห้งสรรพสินค้าที่ จ.ลพบุรี กับเหตุการณ์ที่ศูนย์การค้าฯ ที่ จ.นครราชสีมา เพื่อฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ ในกรณีเมื่อประสบเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสายตรวจ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ จะเข้าระงับเหตุอย่างไร ซึ่งครูฝึกของเอฟบีไอ จะสอน แต่บางครั้งขั้นตอนการปฏิบัติตำรวจทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบอย่างแพร่พลาย โดยหลักสูตรนี้ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ก็มอบหมายว่าจากนี้ไป ก็อาจจะต้องบรรจุไว้ในหลักสูตรหลัก สอนคู่ไปกับหลักสูตรที่ตำรวจจะต้องเรียน
“ที่กลัวที่สุดขณะนี้คือเรื่องพฤติการณ์เลียนแบบ เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมาอีก เราก็ไม่คิดว่าเกิดเหตุที่ จ.ลพบุรี แล้วจะมาเกิดเหตุอีกที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงยิ่งกว่ามาก ดังนั้นการให้ความรู้แก่พลเรือนเมื่อเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้จึงมีความสำคัญ โดยพี่น้องประชาชนที่พบเหตุการณ์ควรตั้งสติ และไม่ควรพากันไปมุงดูเหตุการณ์เพราะมันอันตราย ขอให้รีบวิ่งหนีออกมาก่อน ออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ถ้าไปไม่ได้ วิ่งไปเจอทางตัน ไม่สามารถออกจากที่เกิดเหตุได้ ก็ต้องหาที่หลบซ่อนตัว ในช่อง หรือเข้าไปในห้องแล้ว ก็ต้องหาอะไรมาขวางประตู เพื่อไม่ให้คนร้ายเข้ามาได้” พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ กล่าว
พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ กล่าวอีกว่า ถ้าหนีแล้ว คนร้ายยังเข้ามาใกล้จวนตัว แม้จะหันหลังวิ่งท่านก็ตาย เพราะคนร้ายมาเพื่อประสงค์แก่ชีวิตเรา ถ้าอย่างนี้ท่านก็ต้องสู้ ถ้ามันถึงที่สุดแล้วทำอะไรไม่ได้จริงๆ ก็มีความจำเป็น เขาถึงเรียกว่า “Run Hide Fight” แต่มันก็มีขั้นตอน ซึ่งในสหรัฐอเมริกา เกิดเหตุลักษณะนี้บ่อยครั้ง เขาจึงมีการสอนกันตั้งแต่เด็กนักเรียนเลย ซึ่งได้นำเรียน ผบ.ตร.แล้วว่า ต่อไปเราอาจจะต้องเข้าไปทำโครงการต่างๆ เหล่านี้ แล้วสอดแทรกเข้าไปในโรงเรียน เราเข้าไปแนะนำตั้งแต่เด็กๆ เลย เพื่อให้เขามีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด
รอง ผบช.ก.กล่าวว่า สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการส่วนต่างๆ นั้น ทาง ผบ.ตร.ก็ให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่จัดทำเรื่องงบประมาณเพื่อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ สิ่งที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษต้องการ เราก็จะเร่งรัด อันไหนที่สามารถจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณได้ก็ขอเปลี่ยนในรายละเอียด เพื่อมาจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุดก่อน ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีการปรึกษากับทางสำนักงบประมาณอีกครั้ง หากว่าเราจะขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วน และเป็นข้อสั่งการลงมาแล้วของทาง ผบ.ตร.
พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ กล่าวถึงกรณีการปรับเสริมยุทธวิธีของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ว่าจริงๆ แล้วชุดปฏิบัติการที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ภายในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา ถูกฝึกอบรมมาอย่างเข้มข้น ทุกนายเป็นมืออาชีพทั้งนั้น แต่ตนก็ย้ำไปแล้วว่าหน้างานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแต่ละหน้างานจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นการฝึกแต่ละครั้ง การให้โจทย์เขาไป คือการสร้างทักษะ ตนมองว่าเรื่องของตัวบุคคลนั้นพร้อมหมดแล้ว เพียงแต่ต้องมีอุปกรณ์เสริมเข้าไปช่วย เราไม่คิดว่าจะเกิดเหตุในห้าง อย่างเวลาเข้าปฏิบัติการสวมเสื้อเกราะ แล้วเวลาเกาะกันเข้าไป เสื้อเกราะสามารถกันกระสุนได้ขนาดนี้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่
Cr.เจริญผล เอี่ยมพึ่ง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน