เผาข้าวหลามในอดีตเมื่อราว ๓๐ ปีที่ผ่านมา ชาวนาท่าวุ้งจะเริ่มฤดูเก็บเกี่ยวราวต้นเดือนอ้าย เริ่มจากการเก็บเกี่ยวข้าวเบา (ข้าวที่หว่านบนที่ดอนและเก็บเกี่ยวได้ก่อน) ต่อด้วยข้าวกลาง และข้าวหนัก (ข้าวที่หว่านในที่ลุ่ม/น้ำลึกและเก็บเกี่ยวได้หลังสุด) จะเสร็จราวเดือน ๓ เมื่อนวดข้าวและขนขึ้นสู่ยุ้งฉางเรียบร้อยแล้ว ก็จะพากันเผาข้าวหลาม
การเผาข้าวหลามจะเป็นการพอดีกัน (ถูก “กาละ” และ “เทศะ”) คือไผ่สีสุกที่ชาวบ้านปลูกไว้เกือบทุกบ้าน เมื่อหน้าฝนจะออกหน่อและเติบโตเป็นลำไม้กำลังอ่อนได้ที่มีเยื่อ ขณะที่ข้าวเหนียวใหม่ก็เพิ่งจะเก็บเกี่ยวพร้อมสีไว้กินเป็นข้าวใหม่หอมอ่อนนุ่ม
เมื่อได้กำหนดว่าเป็นวันเผาข้าวหลาม พ่อจะลงมือเลือกตัดไม้ไผ่สีสุกข้างบ้านลำที่กำลังอ่อนได้ที่มีเยื่อหนา แล้วนำมาเลื่อยเป็นกระบอกพักไว้ แล้วไปเก็บใบตองแห้ง/สดจากต้นกล้วยข้างบ้านอีกเช่นกัน ล้างน้ำแล้วพักไว้ให้แห้ง แม่และยายก็จะรีบขูดมะพร้าวคั้นกะทิ แล้วนำข้าวเหนียวและถั่วดำที่แช่น้ำไว้ตั้งแต่เมื่อคืนสรงน้ำให้หมาด ส่วนถั่วดำนำไปนึ่งให้สุก
นำข้าวเหนียวพร้อมถั่วดำใส่ลงในกระบอกไม้ไผ่ราวค่อน (ประมาณ ๔ ใน ๕ ส่วน) ใส่น้ำกะทิ (ที่ปรุงรสเค็ม/หวานตามชอบ) ให้ท่วมข้าว ปิดด้วยกาบมะพร้าวที่หุ้มด้วยใบตองให้แน่น พักไว้
พ่อจะนำเหล็กมาทำเป็นราว นำกระบอกข้าวหลามมาเรียงไว้เป็นแถวห่างกันให้ได้ระยะ แล้วจุดไฟด้วยฟืน/ถ่านวางไว้รอบๆ ไอร้อนจะค่อยๆ ทำให้ข้าวเหนียวในกระบอกค่อยๆ ร้อนขึ้น สักพักใหญ่ๆ ก็จะเริ่มเดือด พ่อต้องคอยเกลี่ยให้ให้พอดี คอยหมุนกระบอกให้รับไฟทุกด้าน จะต้องเตรียมน้ำไว้ดับไฟในกรณีที่เกิดการลุกไหม้ที่กระบอกด้วย ทำไปเช่นนี้จนกว่าข้าวหลามจะสุกได้ที่และส่งกลิ่นหอมน่ากิน
เมื่อข้าวหลามสุกได้ที่แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของพ่ออีกที่จะต้องใช้มีดโต้ปอกไม้ไผ่ให้เหลือเพียงบางๆ จนลอกออกได้ (โดยมีเยื่อไม้ไผ่ติดอยู่ที่ข้าวหลาม) แล้วรีบนำส่วนหนึ่งไปถวายพระให้ทันฉันเพล พวกเราต้องคอยจนกว่าจะได้นำข้าวหลามไปถวายพระก่อนจึงจะได้กินกัน บ้างก็นำไปจิ้มน้ำตาลทราย บ้างก็นำไปจิ้มน้ำผึ้ง บ้างก็น้ำไปจิ้มนมข้นหวาน บ้างก็กินโดยไม่จิ้มอะไรเลย อร่อยจนอิ่มพุงกาง
การเผาข้าวหลามปีหนึ่งจะทำหนึ่งครั้งๆ ละมากๆ อาจ ๑-๒ ถังๆ ละ ๒๐ ลิตร เผาเสร็จแล้วก็แจกกันกินเกือบจะรอบหมู่บ้าน บ้านละ ๑/๒/๓ กระบอก แล้วแต่ว่าบ้านไหนมีคนอยู่มากน้อยเท่าไร เมื่อบ้านเราเผาบ้านอื่นๆ ก็ได้กินด้วย พอบ้านคนอื่นเผาเราก็จะได้กินด้วย เรียกว่าเป็นเทศกาลแห่งการกินข้าวหลามกันเลย หนึ่งปีมีหนึ่งครั้งเท่านั้น
ด้วยความที่พอดีทั้งข้าวเหนียวใหม่/ไม้ไผ่กำลังอ่อนมีเยื่ออ่อนได้ที่ เมื่อบวกกับการที่ต้องคอยมาทั้งปี การได้กินข้าวหลามที่พ่อแม่เผาให้กินจึงเป็นของกินแสนวิเศษ อร่อยมาก ที่สำคัญเป็นการฝึกให้พวกเรา “รอได้” “คอยได้” จนได้อร่อยอย่างมีคุณค่า สมกับที่รอคอยมาทั้งปี
ใจรัก วงศ์ใหญ่
ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ
จังหวัดลพบุรี