พระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้มีคุณูปการณ์ต่อเมืองลพบุรี
พระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงพระนามว่า “มหาราช” เป็นการแสดงถึงการที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันยังประโยชน์อย่างเยี่ยมยอดแก่ชาติไทย เช่น ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพ ทรงปกครองช่วยเหลือประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ และทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยให้วัฒนาถาวร ดังเช่น “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2175 – พ.ศ. 2231 ครองราชย์ พ.ศ. 2199 – พ.ศ. 2231)
เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงมีต่อแผ่นดินไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 ให้วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นวันรัฐพิธี โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการในวันนี้ หน่วยงานราชการพร้อมด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ ได้จัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เพื่อสดุดีเทิดพระเกียรติในวันคล้ายวันสวรรคต รวมถึงแสดงความจงรักภักดี เทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
พระราชประวัติ
ภาพ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ.2123 – 2198 ส่วนพระราชมารดานั้น เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงพระราชสมภพวันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ.2175 ทำพระราชพิธี เบญจเพสในเดือนยี่ พ.ศ. 2199 และเหตุที่มีพระนามว่า ” นารายณ์” นั้น มีอ้างไว้ในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพระราชเทวีประสูตินั้น พระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็นสี่กร สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระราชบิดาจึงพระราชทานนามว่า ” พระนารายณ์ราชกุมาร ” แต่ในหนังสือ ” คำให้การชาวกรุงเก่า ” และ ” คำให้การของขุนหลวงหาวัด ” ว่า เมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก สมเด็จพระนารายณ์ยังเป็นพระราชกุมารอยู่ เสด็จขึ้นไปดับเพลิง บรรดาคนทั้งปวงเห็นเป็นสี่กร ครั้นขึ้นเสวยราชสมบัติ ข้าราชการ ทั้งปวงจึงถวายพระนามว่า พระนารายณ์ สมเด็จพระนารายณ์มีพระอนุชาร่วมพระชนกหลายองค์ แต่ต่างพระชนนีกัน คือ เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ ซึ่งเรียกกันว่า พระราชกัลยา เมื่อทรงพระเยาว์สมเด็จพระนารายณ์ได้รับการศึกษาจากพระโหราธิบดี และทรงใฝ่พระทัยศึกษาจาก พระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม และจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
เมื่อขึ้นเสวยราชย์ พ.ศ.2199 พระนามว่า ” สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 3 ” เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1018 ปีวอก ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199 พระชนมายุ 25 พรรษา ประทับเสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา 10 ปี จึงโปรดให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่สอง ในปี พ.ศ. 2209 พระองค์เสด็จประทับที่ลพบุรีปีหนึ่ง ๆ เป็นเวลาถึง 8-9 เดือน พระองค์สวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 รวมดำรงราชสมบัตินาน 32 ปี สิริรวมพระชนมายุ 56 พรรษา มี พระราชธิดาพระองค์เดียวคือ กรมหลวงโยธาเทพ
ผลงานและเกียรติคุณ
ภาพ ราชทูตฝรั่งเศส เชวาลิเยร์ (Chevalier de Chaumont) ผู้แทนพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14
พร้อมด้วยบาทหลวงสำคัญ 3 รูป เข้าเฝ้าและถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนารายร์มหาราช ณ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท กรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685)
สมเด็จพระนารายณ์ทอดพระเนตรจันทรุปราคาร่วมกับคณะทูต นักบวชคณะเยสุอิต และนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่ สมุหนายกขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตนำโดย เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในรัชสมัยของพระองค์ก็คือ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์
สมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศในพระราโชบายทางคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ รักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติและรับผลประโยชน์ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติ ณ ราชอาณาจักรศรีอยุธยาแล้ว ปัญหากิจการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์เป็นไปในทางเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยในขณะนั้น มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย และอยู่ในราชอาณาจักรไทยมากว่าที่เคยเป็นมาในกาลก่อน ที่สำคัญมาก คือ ชาวยุโรปซึ่งเป็นชาติใหญ่มีกำลังทรัพย์ กำลังอาวุธ และผู้คน ตลอดจน มีความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาการต่าง ๆ เหนือกว่าชาวเอเซียมาก และชาวยุโรปเหล่านี้กำลังอยู่ในสมัยขยายการค้า ศาสนาคริสต์ และอำนาจทางการเมืองของพวกตนมาสู่ดินแดนตะวันออก
ยกตัวอย่างเช่นในปี พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) ออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี พระยาพระคลัง และออกพระศรีพิพัทธ์รัตนราชโกษาได้ลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศฝรั่งเศส
ในรัชสมัยของพระองค์นั้น ชาวฮอลันดาได้กีดกันการเดินเรือค้าขายของไทย ครั้งหนึ่งถึงกับส่งเรือรบมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขู่จะระดมยิงไทย จนไทยต้องผ่อนผันยอมทำสัญญายกประโยชน์การค้าให้ตามที่ต้องการ แต่เพื่อป้องกันมิให้ฮอลันดาข่มเหงไทยอีก สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงสร้างเมืองลพบุรีไว้เป็นเมืองหลวงสำรอง อยู่เหนือขึ้นไปจากกรุงศรีอยุธยา และเตรียมสร้างป้อมปราการไว้คอยต่อต้านข้าศึก เป็นเหตุให้บาทหลวงฝรั่งเศสที่มีความรู้ทางการช่าง และต้องการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ได้เข้ามาอาสาสมัครรับใช้ราชการจัดกิจการเหล่านี้ ข้าราชการฝรั่งที่ทำราชการมีความดีความชอบในการปรับปรุงขยายการค้าของไทยขณะนั้นคือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ซึ่งกำลังมีข้อขุ่นเคืองใจกับบริษัทการค้าของอังกฤษที่เคยคบหาสมาคมกันมาก่อน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ จึงดำเนินการเป็นคนกลาง สนับสนุนทางไมตรีระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับทางราชการฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส
ราชทูตสยามนำโดยโกษาปานเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ ห้องกระจก พระราชวังแวร์ซาย ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686) ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์กำลังมีพระทัยระแวงเกรงฮอลันดายกมาย่ำยี และได้ทรงทราบถึงพระเดชานุภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในยุโรปมาแล้ว จึงเต็มพระทัยเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้ เพื่อให้ฮอลันดาเกรงขาม ด้วยเหตุนี้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้มีการส่งทูตไปสู่พระราชสำนักฝรั่งเศส และต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสอย่างเป็นงานใหญ่ถึงสองคราว แต่การคบหาสมาคมกับชาติมหาอำนาจคือฝรั่งเศสในยุคนั้นก็มิใช่ว่าจะปลอดภัย ด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราโชบายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์ และประชาชนชาวไทยรับนับถือคริสต์ศาสนา ซึ่งบาทหลวงฝรั่งเศสนำมาเผยแผ่ โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งพระราชสาสน์มาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์เข้ารับ นับถือคริสต์ศาสนาพร้อมทั้งเตรียมบาทหลวงมาไว้คอยถวายศีลด้วย แต่สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างทะนุถนอมไมตรี ทรงขอบพระทัยพระเจ้าหลุยส์ที่มีพระทัยรักใคร่พระองค์ถึงแสดงพระปรารถนาจะให้ร่วมศาสนาด้วย แต่เนื่องด้วยพระองค์ยังไม่เกิดศรัทธาในพระทัย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะพระเป็นเจ้าประสงค์ที่จะให้นับถือศาสนาคนละแบบคนละวิธี เช่นเดียวกับที่ทรงสร้างมนุษย์ให้ผิดแผกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือทรงสร้างสัตว์ให้มีหลายชนิดหลายประเภทก็ได้ หากพระเป็นเจ้ามี พระประสงค์จะให้พระองค์ท่านเข้ารับนับถือศาสนาตามแบบตามลัทธิที่พระเจ้าหลุยส์ทรงนับถือแล้ว พระองค์ก็คงเกิดศรัทธาขึ้นในพระทัย และเมื่อนั้นแหละ พระองค์ท่านก็ไม่รังเกียจที่จะทำพิธีรับศีลร่วมศาสนาเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงกวีและงานด้านวรรณคดีอันเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น ทรงเป็นกวีและทรงอุปถัมภ์กวีในยุคของพระองค์อย่างมากมาย กวีลือนามแห่งรัชสมัยของพระองค์ก็ได้แก่ พระโหราธิบดี หรือพระมหาราชครู ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก และตอนหนึ่งของเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์) กวีอีกผู้หนึ่งคือ ศรีปราชญ์ ผู้เป็นปฏิภาณกวี เป็นบุตรของพระโหราธิบดี งานชิ้นสำคัญของศรีปราชญ์ คือ หนังสือกำศรวลศรีปราชญ์ และอนุรุทรคำฉันท์ด้วยพระปรีชาสามารถดังได้บรรยายมาแล้ว สมเด็จพระนารายณ์จึงได้รับการถวายพระเกียรติเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง
วรรณกรรมที่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เช่น
สมุทรโฆษคำฉันท์ ส่วนตอนต้นเชื่อกันว่าพระมหาราชครูเป็นผู้แต่งแต่ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน สมเด็จพระนารายณ์จึงพระราชนิพนธ์ต่อ โดยเริ่มที่ตอน พิศพระกุฎีอาศรมสถานตระกาลกล ไปจนถึง ตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดู โอ้แก้วกับตนกู ฤ เห็น
คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า) เป็นผลงานของขุนเทพกวี สันนิษฐานว่าแต่งในคราวสมโภชขึ้นระวางเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ เมื่อ พ.ศ. 2216 เป็นต้น
หนังสือเรื่องสำคัญ ๆ ในรัชสมัยนี้ ได้แก่ โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ของหลวงศรีมโหสถ, หนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี (จัดเป็นตำราเรียนเล่มแรกของประเทศไทย) และอนิรุทธคำฉันท์ เป็นต้น
การที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่สอง และโปรดประทับที่เมืองลพบุรีปีละ 8 – 9 เดือนนั้นเป็นการนำความเจริญ รุ่งเรืองมาสู่เมืองลพบุรี เพราะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าสู่เมืองลพบุรี อาทิ ระบบประปา หอดูดาว สร้างกำแพงเมือง ประตูเมือง และป้อมปืนเมืองลพบุรี จึงคึกคักมีชีวิตชีวา ตลอดรัชกาลของพระองค์ มีการคล้องช้าง มีชาวต่างชาติ คณะทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี มีบาทหลวงเข้ามาส่องกล้องดูดาว ดูสุริยุปราคา จันทรุปราคา เมื่อพระองค์สวรรคต เมืองลพบุรีก็ถูกทิ้งร้างอยู่ระยะหนึ่ง แต่ยังมีอนุสรณ์สถาน ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ เมืองลพบุรี เป็นมรดกตกทอด ให้ชาวเมืองลพบุรี ได้ภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นพระราชาอนุสาวรีย์ที่เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2509 สมัยพลเอกถนอม กิตติขจร(ยศขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2509 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ พระบรมราชานุสาวรีย์นี้เป็นพระรูปปั้นประทับยืนบนแท่นฐานสี่เหลี่ยม หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ทรงเครื่องฉลองพระองค์ เต็มยศ สวมพระพิชัยมงกุฎ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ที่แท่นฐานมีแผ่นป้ายประดิษฐานคำจารึกว่า
สำหรับอาชีพที่ควรบูชาองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช นั่นก็คือ อาชีพค้าขาย เกี่ยวกับงานต่างประเทศ เช่น นักการฑูต หรือ ไม่เว้นแต่งานที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ อาชีพข้าราชการ ครู ทหาร ตำรวจ และรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจ การสื่อสาร การธนาคาร การแพทย์ นอกจากนี้ก็เหมาะกับนักเรียน นักศึกษา และรวมไปถึงศิลปิน นักแสดง เป็นต้น
ใจรัก วงศ์ใหญ่
สำนักข่าวเดลิซันเดย์
ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ
จังหวัดลพบุรี