วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 9.00 น. : นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงานวันการศึกษาเอกชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2563 (PRIVATE Education, Choice of the future) โดยมีนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ,นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช. ศึกษาธิการ,นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี,นายธีรพงษ์ สารเสน รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ,นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการจังหวัดอุดรธานี,นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.),นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสาน และส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.),นายพศชนก มังคละแสน ประธานสมาคม ปส.กช. จังหวัดอุดรธานี ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน สมาคมการศึกษาเอกชน และนักเรียนนักศึกษา จากทั้ง 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความชื่นชมครูเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกคน ที่ร่วมเหน็ดเหนื่อยไปกับครูพี่โอ๊ะ และกระทรวงศึกษาธิการ ในการช่วยแบ่งเบาการจัดการศึกษาของรัฐบาล โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติ รวม 83 ราย ในครั้งนี้ ทั้งรางวัล “เข็มสดุดีทองคำ” จำนวน 3 ราย รางวัล “สดุดีครูเอกชน” จำนวน 20 ราย และรางวัล “ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนดีเด่น” จำนวน 34 ราย รวมทั้งรางวัลเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับการศึกษาเอกชน 26 ราย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า นับว่าภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้กับประเทศไทยมาเป็นระยะเวลา กว่า 102 ปี และสร้างการศึกษา ตลอดจนผู้เรียนที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับและเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่ง “Choice For The Future” ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง
ในนามรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ให้ความสำคัญกับการศึกษาของชาติ และน้อมนำการพัฒนาคนตามพระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนคู่ขนานกันไป เพราะถือว่าทั้งสองส่วนล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการแข่งขัน มีคุณธรรมมีจริยธรรม และมีความพร้อมอย่างสมบูรณ์สู่ศตวรรษที่ 21 ทั้งจากการกล่าวต้อนรับ ทำให้เห็นถึงศักยภาพของจังหวัดอุดรธานีในทุกมิติ ที่มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือเป็นความโชคดีของคนจังหวัดอุดรธานีอย่างยิ่ง
“ท้ายสุดนี้ ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติทุกคน และขอขอบคุณสำหรับความเสียสละ และทุ่มเทอุทิศตน เพื่อพัฒนางานการศึกษาเอกชนไปด้วยกัน ซึ่งคงจะทราบกันดีแล้วว่า รัฐมนตรีคนนี้ให้ความสำคัญกับขวัญกำลังใจของครูและบุคลากร นักเรียนนักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน พร้อมขอยืนยันว่า มีสิ่งใดที่ทำให้ได้ จะพยายามทำให้อย่างเต็มที่ พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคน ได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อกังวลใจต่าง ๆ รัฐมนตรีคนนี้รับฟังเสมอ ขอเพียงส่งเสียงมาถึงกัน ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อต้องการพัฒนาขวัญกำลังใจของทุกคนเสมอ และจับมือเดินหน้าทลายทุกข้อจำกัด เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ก้าวไกลสู่อนาคต โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขอเพียงแค่รอยยิ้ม เสียงปรบมือ หรืออ้อมกอดทุกกอด ที่ได้รับเมื่อเจอกันในที่ต่าง ๆ เป็นสิ่งตอบแทนในความตั้งใจ ทุ่มเท ในการทำงานกับครูพี่โอ๊ะตลอดไป ก็เพียงพอแล้ว” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวตอนหนึ่งว่า จังหวัดอุดรธานี ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในทุกระดับทุกประเภท ภายใต้แนวคิด เด็ก เยาวชน ประชาชน ได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ในทุกมิติ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา ตลอดจนการศึกษาเพื่อการมีอาชีพ และมีงานทำของประชาชน โดยเฉพาะการจัดการศึกษาเอกชน ของสถานศึกษาทั้ง 60 แห่งของจังหวัด ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการศึกษาประเภทอื่น เพราะมีส่วนช่วยพัฒนาคนอุดรธานี ไปเป็นกำลังคนในการพัฒนาชุมชน พื้นที่ จังหวัด และภูมิภาคนี้ต่อไป ให้สมกับที่จังหวัดอุดรธานี “เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน” อย่างยั่งยืน
งานวันการศึกษาเอกชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2563 กำหนดจัดระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2563 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยมีผู้บริหาร ครู นักเรียนนักศึกษา สมาคมและเครือข่ายการจัดการศึกษาเอกชน ผู้ปกครอง และประชาชนที่สนใจจาก 20 จังหวัด ของภูมิภาคนี้เข้าร่วม ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี รวมทั้งอุดรธานี
กิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การบรรยายทางวิชาการ การประกวดนวัตกรรมด้านการวิจัยของครู และผู้บริหาร การจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมรูปแบบมีชีวิต และการจัดการแข่งขัน “ทักษะวิชาการ ศิลปหัตถกรรมนักเรียนโรงเรียนเอกชน ระดับชาติ” ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา 2562 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพที่เป็นเลิศ ด้านศิลปหัตถกรรม วิชาการ และเทคโนโลยี ตลอดจนเผยแพร่ผลงานของสถานศึกษา และผลการเรียนรู้ของนักเรียนให้ปรากฏต่อสาธารณชน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความสามัคคี ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชน และระหว่างนักเรียนเอกชนด้วยกัน
Cr.นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน