วารสารเนเจอร์ยกจีนครองแชมป์พัฒนาการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ สถาบันการศึกษาจีนครองอันดับเกือบครึ่งผัง
“วารสารเนเจอร์” (Nature) วารสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก เปิดผลการจัดอันดับ “ เนเจอร์ อินเด็กซ์ 2016 ไรซิ่ง สตาร์” (Nature Index 2016 Rising Stars) ซึ่งเป็นดัชนีจัดอันดับคุณภาพการวิจัยของสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก โดยได้จัดให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีพัฒนาการในการทำวิจัยมากที่สุด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
ดัชนีฯได้เผยรายชื่อสถาบันการศึกษาที่มีพัฒนาการด้านการวิจัยมากที่สุดจำนวน 100 แห่ง โดยมีสถาบันจากแดนมังกรติดอันดับมากถึง 40 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ มีสถาบันการศึกษาที่มีการขยายตัวด้านการวิจัยมากกว่าร้อยละ 50 มากถึง 24 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยครุศาสตร์แห่งภาคตะวันออก (East China Normal University) มีการขยายตัวด้านงานวิจัยสูงเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2555
รายงานระบุว่า สถาบันที่ทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับหนึ่งคือ สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) โดยมีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยหนันจิงทำคะแนนไล่หลังมาตามลำดับ
ทั้งนี้ ในภาพรวม สหรัฐฯ ยังคงครองอันดับประเทศที่มีบทความตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำมากเป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าการขยายตัวด้านงานวิจัยจะเทียบกับจีนไม่ได้ก็ตาม โดยมีสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯที่ติดอันดับในดัชนีฯเพียง 11 แห่งเท่านั้น
นายเดวิด สวินแบงคส์ (David Swinbanks) ผู้ก่อตั้งดัชนีเนเจอร์ ระบุว่า นโยบายของสถาบันการศึกษาจีน ในการผลักดันการตีพิมพ์บทความในวารสารชั้นนำของโลก เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2548 นอกจากนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ที่เดินทางจากต่างประเทศกลับบ้านเกิด ก็มีส่วนในการเพิ่มจำนวนการตีพิมพ์บทความ
รายงานระบุว่า จีนทุ่มทุนราว 1.4 ล้านล้านหยวน หรือราว 7 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 2.1 เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขจีดีพี ไปกับการพัฒนาการวิจัยในปี 2558 โดยมีนักวิจัยซึ่งทำงานเต็มเวลามากถึง 3.7 ล้านคน
ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวได้จัดอันดับสถาบันการศึกษา โดยพิจารณาจากการตีพิมพ์บทความด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences), เคมี, ชีววิทยาศาสตร์ (life sciences), โลกและสิ่งแวดล้อม ของนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆนับ 8,000 แห่ง ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกจำนวน 68 ฉบับ ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2553 ถึง 2558