เปิดให้บริการมาได้เพียง 3 ปีเท่านั้น แต่วันนี้ สนามบินนานาชาติ “ดอนเมือง” ที่เริ่มกลับมาเปิดให้บริการคู่ขนานไปกับสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ก็เริ่มตกอยู่ในสภาพ “แออัด” ทั้งในแง่ของจำนวนผู้โดยสาร และจำนวนเที่ยวบิน
เมื่อย้อนกลับไปในห้วงเวลานั้นจะพบว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เจรจากับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์รายใหญ่ “ไทย แอร์เอเชีย” ให้ย้ายฐานปฏิบัติการบินจากสุวรรณภูมิ มาปักธงที่ดอนเมืองแทน นอกจากนี้ ยังใจป้ำอัดส่วนลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อจูงใจบรรดาโลว์คอสต์แอร์ไลน์ บัดเจตแอร์ไลน์ ทั้งไทยและเทศ ให้มาใช้บริการด้วย
“ดอนเมือง” เติบโตต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ระบุว่า สนามบินดอนเมืองมีศักยภาพสูงมาก และสามารถจะเติบโตได้อีกมาก ที่ผ่านมาดอนเมืองมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 50% ทั้งในเชิงปริมาณผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบิน เนื่องจากเทรนด์การเดินทางในปัจจุบันคนหันมาใช้บริการเครื่องบินแทนรถโดยสารมากขึ้นถึง 50% ต่อปี เช่นเดียวกับเทรนด์การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินโลกที่ยังขยายตัวดีเฉลี่ยปีละ 10%
จากมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของดอนเมือง ที่ตั้งตรงกลางภูมิภาค สายการบินต่าง ๆ จึงสามารถต่อยอดจุดขายและจุดเชื่อมต่อเที่ยวบินในภูมิภาค โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินได้
สอดคล้องกับข้อมูลของ ทอท. ระบุว่า การเติบโตของสนามบินดอนเมือง พุ่งสูงต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และแม้ว่า ทอท.จะเพิ่งเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ตามแผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ (เฟส) 2 เมื่อช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ภายใต้งบฯลงทุนราว 3,200 ล้านบาท เป็นการปรับปรุงอาคาร สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบสาธารณูปโภค
แต่วันนี้ ตัวเลขจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการใกล้จะแตะเพดานขีดความสามารถของสนามบินแห่งนี้แล้ว ปัจจุบันดอนเมืองมีตัวเลขผู้โดยสารอยู่ที่ 28.5 ล้านคนต่อปี จากที่สามารถรองรับได้ที่ 30 ล้านคนต่อปี
หากย้อนกลับไปจะพบว่า ตัวเลขจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารของสนามบินดอนเมือง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเมื่อปี 2555 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 5.98 ล้านคน เพิ่มเป็นกว่า 30 ล้านคนเมื่อปี 2558 สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินเมื่อปี 2556 ที่มี 144,108 เที่ยวบิน เพิ่มเป็น 224,074 เที่ยวบินในปี 2558
ล่าสุด รายงานข่าวจาก ทอท. ระบุว่า ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) มีปริมาณเที่ยวบิน 119,289 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.16% จากสายการบินประจำ 18 สายการบิน ส่วนปี 2558 มีเที่ยวบิน 224,074 เที่ยวบินเพิ่มขึ้น 29.76% จากสายการบินประจำ 18 สายการบิน จากปี 2557 ที่มีจำนวนเที่ยวบิน 172,681 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 19.83% และมีสายการบิน 16 สายการบิน จากปี 2556 มีเที่ยวบิน 144,108 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 121.30% จากสายการบิน 8 สายการบิน
“เพ็ชร ชั้นเจริญ” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. ย้ำว่า จากการเติบโตของสายการบินโลว์คอสต์ที่เข้ามาใช้สนามบินดอนเมืองเป็นศูนย์กลางการบิน ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและปริมาณผู้โดยสารเพิ่มสูงต่อเนื่อง จนเกิดปัญหาตารางบินค่อนข้างแน่น และหลุมจอดไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทอท.จึงวางมาสเตอร์แพลนพัฒนาสนามบิน ดอนเมือง เฟส 3 ด้วยงบฯลงทุนรวม 27,435 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 เฟสย่อย และจะเริ่มคิกออฟโปรเจ็กต์ตามแผนทันที
โดยเฟสย่อย 3.1 จะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2560-2565 ใช้งบฯลงทุน 18,949 ล้านบาท เน้นปรับปรุงและเพิ่มหลุมจอดตรงลานจอดด้านทิศเหนือและทิศใต้ รวมถึงการขยายพื้นที่รองรับการจัดการภายในสนามบิน โดย ทอท.จะเพิ่มหลุมจอดเป็น 148 หลุมจอด จากปัจจุบันที่มี 101 หลุมจอด
จากนั้น จะเข้าสู่การพัฒนาเฟสย่อย 3.2 ตั้งแต่ปี 2566-2568 ใช้งบฯ 8,486 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงพื้นที่ในสนามบินให้มีประสิทธิภาพ พร้อมเชื่อมต่อระบบขนส่งทางราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี
ทั้งนี้ ทอท.คาดว่า สิ้นปีนี้จะมียอดผู้โดยสารเต็มขีดความสามารถซึ่งเป็นผลพวงจากสายการบินโลว์คอสต์ได้ขยายธุรกิจเปิดจุดบินใหม่ๆทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งถือเป็นจุดหมายสำคัญของสายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ เช่น ไทยแอร์เอเชีย และไทยไลอ้อนแอร์
“อัศวิน ยังกีรติวร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ระบุว่า ขณะนี้ตารางบิน (สลอต) ที่สนามบินดอนเมืองแน่นมาก เพราะสายการบินโลว์คอสต์ต่างเปิดเส้นทางใหม่ และเพิ่มเที่ยวบินรองรับดีมานด์นักท่องเที่ยว และกระแสการเดินทางภายในประเทศ และภายในสิ้นปีนี้ไทยไลอ้อนแอร์จะโฟกัสการขยายเส้นทางบินไปต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดหลัก ที่ปัจจุบันได้เปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) แบบประจำ และมีแผนขยายเส้นทางบินไปจีนรวม 8-9 เมือง บินจากกรุงเทพฯ กระบี่ และสุราษฎร์ธานี และเร็ว ๆ นี้จะปรับเป็นเที่ยวบินประจำแบบปกติ สำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปจีนมากขึ้น
จากปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เปิดเส้นทางบินดอนเมือง-ย่างกุ้ง 2 เที่ยวบินต่อวัน เพื่อรองรับคนไทยที่นิยมไปไหว้พระทำบุญ รวมถึงคนเมียนมาที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวในไทย และเดือนตุลาคมนี้ จะเปิดเที่ยวบินไปฮานอยและโฮจิมินห์ รวมทั้งมีแผนจะเปิดเส้นทางไปเนย์ปิดอว์เพิ่มในปี 2560 และในอนาคตอันใกล้นี้ยังมีแผนจะเปิดบินไปญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฮ่องกง ออสเตรเลีย รวมทั้งอินเดียด้วย
สอดรับกับ “เจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนิวเจนแอร์เวย์ส กล่าวว่า ขณะนี้สนามบินดอนเมือง ไม่สามารถจะสลอตบินดี ๆ ได้แล้ว เนื่องจากความหนาแน่นของเที่ยวบิน ปัจจุบันหลุมจอดที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพียงเฉพาะกลุ่มแอร์เอเชีย ก็ใช้ไปแล้ว 50 หลุมจอด ไทยไลอ้อนแอร์ 20 หลุมจอด นกแอร์ 20 หลุมจอด ที่เหลือเป็นของสายการบินอื่น ๆ และนิวเจนแอร์เวย์ส ก็มีแผนขยายฝูงบินโบอิ้งเพิ่มเป็น 14 ลำในปี 2560 และเพิ่มเป็น 36 ลำในปี 2565 โดยจะทำตลาดชาร์เตอร์ไฟลต์แบบประจำสู่เมืองรองประเทศจีน
ขณะที่ “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ในฐานะกรรมการ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ไทยแอร์เอเชีย จะเดินกลยุทธ์ขนนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ และขยายตลาดชาร์เตอร์ไฟลต์ให้มากขึ้น ตามแผนปีนี้ ไทยแอร์เอเชียจะรับมอบเครื่องบินครบ 51 ลำ คาดการณ์ผู้โดยสารอยู่ที่ 17 ล้านคน พร้อมเจาะอินเดียและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เสริมตลาดจีนที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว
ปัจจุบัน ไม่เพียงเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ที่ยึดดอนเมืองเป็นฐานที่มั่น แต่ยังมีสายการบินรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาใช้บริการที่ดอนเมืองเป็นระลอก ๆ อาทิ “สปริงแอร์” จากจีน ที่ได้เข้ามาบุกน่านฟ้าไทย-จีนอย่างมาก
การเดินหน้าลงทุนเฟส 3 จึงเป็นคำตอบของ ทอท. ที่ต้องการจะย้ำการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค