คงไม่มีมีใครเชื่อสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐจะเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ แต่ถ้าหากเกิดมีขึ้นมาจริงๆ และ เป็นสงครามทางอากาศเต็มรูปแบบ ภาพรวมจะออกมาเป็นเช่นไร และ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร นายทหารสหรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในรัฐฮาวาย ได้บรรยายสรุปรูปการณ์ต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่สถาบันศึกษาวิจัยแห่งหนึ่ง ได้รับฟังเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งทำให้เกิดมโนภาพขึ้นมาลางๆ ให้เห็นว่า.. จีนพ่ายแพ้อย่างราบคาบ ด้วยเทคโนโลยีล่องหนของเครื่องบินรบยุคที่ 5 ที่สหรัฐพัฒนาไปไกลกว่าใครๆ
เรื่องนี้ถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อกลาโหมหลายแห่งทั้งสหรัฐ และ ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เครื่องมือสำคัญที่สุด ที่ทำให้เชื่อมั่นว่าถือแต้มที่เหนือกว่าก็คือ เครื่องบินรบ “สเตลธ์” ทั้งสองรุ่น ซึ่งได้แก่ F-22 “แร็พเตอร์” (Raptor) กับ F-35 “ไล้ต์นิ่ง 2” (Lightning II) ที่สามารถฝ่าข่ายเรดาร์ กับ ระบบรบกวนทางอีเล็กทรอนิกส์ของฝ่ายจีน เข้าไปถล่มที่ตั้งระบบจรวดต่อสู้อากาศยานของจีนได้ในทุกๆ จุด เปิดทางให้เครื่องบินรบยุคที่ 4 เช่น เอฟ/เอ-18 เอฟ-15 และ เอฟ-16 เข้าไปจนถึงกรุงปักกิ่ง ฯลฯ
เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์สเตลธ์อีก 2 รุ่นในปัจจุบัน ยังสามารถบินปฏิบัติการถึงเมืองหลวงของจีนได้ด้วยตัวเอง หรือ จะบินไปโจมตียังจุดไหนๆ ก็ได้ โดยไม่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งตรวจจับได้ .. ตามข้อมูลของฝ่ายสหรัฐนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ประเทศไหน ตรวจจับ B-2 กับ B-21 ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลล่องหนทั้งสองรุ่น อาจจะบินข้ามหัวจีนอยู่บ่อยๆ เช่นเดียวกันกับรัสเซัย และ อีกหลายประเทศพันธมิตรของสหรัฐ
เมื่อสหรัฐสามารถครองน่านฟ้าเหนือเมืองหลวง และ นครใหญ่แห่งต่างๆ ของจีนได้ ก็จะเปิดทางให้เครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตียุทธศาสตร์ เช่น B-52H รวมทั้ง และ อีกสารพัด ตามเข้าไปสมทบได้อีก .. ถึงจุดนั้นจีนก็จะมีเพียง 2 ทางเลือกคือ ยอมแพ้หรือสู้จนตรอก ท่ามกลางการสูญเสียอย่างหนัก มีคนตายอีกเรือนล้าน
ไม่ต้องพูดถึงสงครามนิวเคลียร์กับสหรัฐ เพราะนั่นเท่ากับการฆ่าตัวตายทั้งสองฝ่าย..
นายทหารอากาศสหรัฐ ที่ประจำในภาคพื้นแปซิฟิกกล่าวว่า F-22 กับ F-35 เป็นต่อทุกขุมพลังทางอากาศในย่านนี้ ในขณะที่เครื่องบินรบยุคที่ 5 “สเตลธ์” ของจีน คือ พวกรหัส J ตัวเลขสูงๆ ทั้งสองรุ่นนั้่น ยังใช้เครื่องยนต์ควันดำอยู่ ซึ่งทำให้โหมดล่องหนมีค่าต่ำสุด และ เครื่องบินรบทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ก็ยังเป็นแค่ J-11 ที่จีนก็อปปี้ Su-27 ของอดีตสหภาพโซเวียตไปทั้งดุ้น ติดตั้งระบบเอวิโอนิกส์เมด-อิน-ไชน่า
รายงานในเว็บไซต์ข่าวการทหารหลายแห่ง ก่อนหน้านี้ยังระบุว่า สหรัฐไม่เคยวิตกเกี่ยวกับ Su-35 ที่จีนเซ็นซื้อจากรัสเซียจำนวน 2 ฝูง ที่จะส่งมอบกันในอีกไม่นาน โดยมองว่า “ไม่มีความหมายอะไร” และ ระบบจรวด S-400 ที่ซื้อจากรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ก็ไม่ต่างกัน
แม้จะได้ชื่อเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะไกล ดีที่สุดอีกระบบหนึ่งของโลก เป็นเสมือนยาทัมใจหรือยาบวดหาย ที่ใช้กับสารพัดโรคก็ตาม สหรัฐมีระบบอาวุธ ที่สามารถหลอกล่อ และ ยิงทำลาย ที่ตั้งระบบจรวด S-400 ได้ไม่ยาก
ขณะเดียวกันกองทัพอากาศสหรัฐ ยังมอบหมายให้บริษัทเรธีออน (Raytheon) พัฒนาระบบอีเล็กทรอนิกส์ เพื่อสงครามทางอากาศอีกระบบหนึ่ง เพื่อติดตั้งบนเครื่องบินรบ ให้สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้ง หน่วยต่อสู้อากาศยานฝ่ายตรงข้ามได้โดยอัตโนมัติ ช่วยให้หลีกเลี่ยงเหตุการณ์แบบ “หมูวิ่งเข้าหาปังตอ” และ เปิดทางให้ฝ่ายตน สามารถกำหนดเป็นเป้าหมายล่วงหน้าได้
ภาพรวมใหญ่ๆ เกี่ยวกับบทบาทของ F-22 F-35 ในสงครามทางอากาศ กับจีน ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ก็คือ เป็นหัวหอกในการบุกทะลวงเข้าสู่แนวหลังของอีกฝ่ายหนึ่ง โจมตีทำลายข่ายเรดาร์ ข่ายสงครามอีเล็กทรอนิกส์ กับข่ายป้องกันทางอากาศ เพื่อเปิดทางให้กองหลังของสหรัฐ เข้าทำลายเป้าหมายสำคัญต่างๆ ที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งกำลังทางอากาศของจีนทั้งหมด
“ถ้าหากเราส่งเครื่องบินรบยุคที่ 4 (เอฟ-15, เอฟ-16 ฯลฯ) เข้าไป ก็ต้องล้มตายกัน” พล.ต.เจฟ ฮาร์ริเจียน (Jeff Harrigian) ผู้เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการของเครื่องบินรบยุคที่ 5 ทั้งสองรุ่น กับ พ.อ.แม็กซ์ มารอสโค (Max Marosco) รองผู้บังคับการหน่วยสงครามทางอากาศและไซเบอร์สเปซ กล่าวกับเจ้าหน้าที่สถาบัน Mitchell Institute for Aerospace Studies เมื่อต้นเดือนนี้ สถาบันแห่งนี้ตีพิมพ์เรื่องราวดังกล่าว ในอีกไม่กีวันถัดมา
ระยะที่ผ่านมา มีนายทหารกองทัพอากาศหลายนาย ที่เคยพูดถึงเทคโนโลยีชั้นสูงที่ใช้ เพิ่มประสิทธิภาพในการรบของ F-22 และ F-35 แต่ยังไม่เคยมีผู้ใดพูดถึง การใช้เครื่องบินล่องหนทั้งสองรุ่นในการศึก อย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้มาก่อน
ในมโนภาพของนายทหารสหรัฐกลุ่มนี้ สงครามในช่วงปี พ.ศ.2569 นั้น ฝ่ายข้าศึกจะพยายามรบกวนเรดาร์ และ สัญญาณสื่อสารทั้งมวลของสหรัฐ มีเพียงเครื่องบินรบล่องหน F-22 กับ F-35 และ เครื่องบินทิ้งระเบิดสเตลธ์ B-2 กับ B-21 “ปิศาจปีกค้างคาว” เท่านั้น ที่สามารถบินฝ่าแนวป้องกันของจีนได้อย่างปลอดภัย ไปโจมตีในจุดต่างๆ ที่เต็มไปด้วยระบบป้องกันได้
นายทหารทั้งสองคนกล่าวอีกว่า ในวันแรกๆ ของสงครามนั้น ฐานปฏิบัติการของ F-22 กับ F-35 รอบๆ ทะเลจีนใต้ จะถูกฝ่ายจีนโจมตีด้วยจรวดนำวิถีไกล จนเสียหายอย่างหนัก เมื่อขึ้นบินแล้วก็อาจจะไม่สามารถกลับไปลงที่ฐานแห่งเดิมได้อีก แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะว่าทั้ง F-22 และ F-35 สามารถไปใช้สนามบินพลเรือนที่ไหนก็ได้ และ หากจะว่าไปแล้วไป จะขึ้นหรือลงจอดที่ไหนก็ได้ F-22 ต้องการทางวิ่งสั้น เพียงประมาณ 300 เมตรก็เทคออฟได้แล้ว ส่วนรุ่นหลังมีเวอร์ชั่นของนาวิกโยธิน ที่สามารถขึ้นลงแนวดิ่งได้
ทั้ง F-22 และ F-35 ไม่ต้องการการช่วยเหลือใดๆ จากหอควบคุมการบิน คอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้ามากๆ จะนำทางไปยังสนามบินที่ต้องการได้ แม้แต่ในสภาพอากาศเลวร้ายที่สุด
ในช่วงสงครามดังกล่าว เครื่องบินรบยุคที่ 4 ทั้งหลายทั้งปวง ที่ถูกเรดาร์ตรวจจับพบได้โดยง่าย ซึ่งรวมทั้ง F-15 และ F-16 จะต้องอยู่ให้พ้นจากรัศมีจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกลของจีน เพื่อรอให้เครื่องบินรบยุคที่ 6 เปิดทางให้เออกปฏิบัติการได้ในภายหลัง
อย่างไรก็ตามนายทหารทั้งสองไม่ได้ชี้ชัด และ รายงานฉบับดังกล่าวนี้ ก็ไม่ได้ระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า ประเทศคู่อริใน “อเมริกันมโน” นี้คือ จีน และ สนามรบทางอากาศที่กล่าวถึง ไม่ได้ระบุเป็นทะเลจีนใต้ หากเป็น “อาณาบริเวณสำคัญแห่งหนึ่งในต่างแดน” แต่สภาพแวดล้อมที่มีการพูดถึง — เช่นบางที F-35 อาจจะต้องเปลี่ยนเส้นทางไปลงในออสเตรเลียนั้น บ่งบอกว่าสมรภูมิในมโนภาพ เป็นทะเลหลวงแห่งความขัดแย้งในขณะนี้
นอกจากนั้นในปัจจุบัน ประเทศที่มีเครื่องบินรบสเตลธ์ ยุคที่ 5 และ มีระบบป้องกันทางอากาศที่ทันสมัยในย่านนี้ ก็มีเพียงรัสเซียกับจีน ซึ่งรัสเซียก็อยู่ไกลนอกรัศมีทำการของ F-22 กับ F-35 ซึ่งประจำอยู่ในย่านย่านแปซิฟิกตะวันตก
ทั้ง พล.ต.ฮาร์ริเจียน และ พ.อ.มารอสโค ยังพูดถึงอีกหลายประเด็น ที่เป็นรายละเอียด รวมทั้งระบบดาต้าลิงค์ที่รวดร็วยิ่งขึ้น ทันสมัยยิ่งขึ้น ระหว่าง F-22 กับ F-35 ในอนาคต เพื่อสื่อสาร รับ-แลกเปลี่ยนข้อมูล กับหน่วยอำนวยการรบ ที่เป็นเสมือน “ยานแม่”
นายพลผู้นี้กล่าวว่า ทุกคนและทุกอย่างจะดีขึ้นเมื่อเครื่องบินรบแบบ F-22 กับ F-35 บินเข้าสู่ยุทธภูมิ..
การตีพิมพ์รายงานชิ้นนี้ยังมีขึ้น ในขณะที่กองทัพอากาศสหรัฐกำลังจะประกาศให้ฝูงบิน F-35 ฝูงแรก อยู่ในสภาพ “พร้อมรบ” ซึ่งเชื่อกันว่าการประกาศอย่างเป็นทางการ จะมีขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.จนถึง ธ.ค.ปีนี้ ส่วนนาวิกโยธินที่ครอบครอง F-35 อีกเวอร์ชั่น ประจำเรือโจมตียกพลขึ้นบก ประกาศการพร้อมรบตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่เคยนำออกปฏิบัติการในสมรภูมิใดๆ เหมือนเช่น “แร็พเตอร์” ที่เข้าร่วมโจมตีกลุ่มไอซิส ทั้งในอิรักและในซีเรีย
สำหรับ F-22 อยู่ในสภาพพร้อมรบมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ยังไม่เคยนำออกใช้งานจนกระทั่งเมื่อปี 2557 เมื่อบินไปโจมตีกลุ่มรัฐอิสลาม ในบริเวณหนึ่งที่มีระบบป้องกันทางอากาศดีที่สุดในซีเรีย.