“รมช.กนกวรรณ” ดันศูนย์วิทย์ฯ กศน.จับมือ 4 พันธมิตร สร้างกระบวนการคิด ปลูกจิตวิทยาศาสตร์สำหรับคนทุกช่วงวัย
วันที่ 8 มกราคม 2563 : ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสักขีพยานในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ ระหว่างสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO SEPS) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ,นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ และนายพะโยม ชิณวงศ์ หัวหน้าคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน.,นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ,นายสุกิจ อุทินทุ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ,นางชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เป็นผู้ร่วมลงนามความร่วมมือ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรุงเทพฯ
ดร.กนกวรรณฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า “ตนในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่กำกับดูแล สำนักงาน กศน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย ได้มอบนโยบายให้สำนักงาน กศน. ดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้ ขับเคลื่อน กศน. สู่ กศน. WOW 6 G ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 20 แห่ง สังกัดสำนักงาน กศน. ก็เป็นหน่วยงานมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งสร้าง “การรู้วิทยาศาสตร์ หรือ Science Literacy” ให้แก่คนไทยทั่วประเทศ
โดยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในรูปแบบของนิทรรศการ กิจกรรมการศึกษาและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งสร้างความตระหนักรู้ สร้างกระบวนการคิดและปลูกจิตวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการลงนามความร่วมมือในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการขับเคลื่อน นโยบาย กศน.สู่ กศน. WOW ในเรื่อง Good Partnership ที่ได้มอบไว้ เพื่อพัฒนาการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ การพัฒนาการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายที่มีคุณภาพทั้ง 4 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรที่ดีเยี่ยม และทั้ง 5 แห่งได้เห็นพ้องต้องกันว่าควรพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. ทั่วประเทศ ให้มีความทันสมัย มีคุณภาพสูง มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น สามารถให้บริการสร้างแรงบันดาลใจให้ความรู้วิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ควบคู่กับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น จะทำให้เยาวชนและประชาชนได้รับความรู้วิทยาศาสตร์ และทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน และอนาคต มีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาประเทศชาติ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีความพร้อมที่จะเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาบุคลากรด้านการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์และให้บริการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนและประชาชน ในภูมิภาคอาเซียน โดยทั้ง 5 ฝ่ายตกลงจัดทำข้อตกลงนี้ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในการพัฒนาการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์สู่เยาวชนและประชาชน
นับเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. ได้มีพันธมิตร Good Partnerships ทั้ง 4 หน่วยงานที่เป็นเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียนมาร่วมพัฒนาการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ผ่านศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในสังกัดทั้ง 20 แห่ง ให้มีความทันสมัย มีคุณภาพสูง มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้วิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ควบคู่กับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น จะทำให้เยาวชนและประชาชนชาวไทยทั่วประเทศได้รับความรู้วิทยาศาสตร์ และมีทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในโลกศตวรรษที่ 21 มีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาประเทศชาติ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตทั้งภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก อย่างยั่งยืน นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ขอขอบคุณ พันธมิตร Good Partnerships ทั้ง 4 หน่วยงานและสำนักงาน กศน. ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ในการดำเนินงานส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้วิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง ขอให้การดำเนินงานการพัฒนาการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ประสบผลสำเร็จ บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดทุกประการ ” ดร.กนกวรรณ กล่าว
Cr.ข่าว :เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ,กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ: สถาพร ถาวรสุข
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน