เงินเฟ้อกรกฎาคม ขยับขึ้น 0.10% บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากราคาบุหรี่ ผลไม้ พาณิชย์จับตาราคาน้ำมัน เล็งปรับเป้าใหม่ ด้าน กบง.คงราคาขายปลีกแอลพีจีเดือนสิงหาคม
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2559 ปรับสูงขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 ปรับลดลง 0.35% ส่วนระยะ 7 เดือน เงินเฟ้อปรับลดลง 0.07% ซึ่งการปรับขึ้นของเงินเฟ้อมาจากหมวดสินค้ายาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เช่น ราคาบุหรี่ปรับสูงขึ้น ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับสูงขึ้น เช่น ผลไม้สด ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน กล้วยน้ำว้า มะม่วง หรือ ไข่ไก่ เนื้อสุกร ก็ราคาสูงขึ้น เป็นต้น
ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดเคหะสถาน ปรับลดลง 1.41% เช่น ค่ากระแสไฟฟ้ายังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ในรอบเดือนมกราคม–เมษายน 2559 และค่าก๊าซหุงต้ม ส่วนหมวดยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 2.03% โดยสินค้าสำคัญจาก 450 รายการ ที่ราคาปรับสูงขึ้นมี 149 รายการ สินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมี 193 รายการ และที่ปรับลดลงมี 108 รายการ
“แนวโน้มเงินเฟ้อครึ่งปีหลังมีทิศทางปรับสูงขึ้น เนื่องจากหากเทียบกับช่วงปลายปีของปี 2558 เงินเฟ้อติดลบค่อนข้างมากหลายเดือน ซึ่งน่าจะทำให้เงินเฟ้อทั้งปีจะไม่ติดลบ หากราคาน้ำมันไม่ลดลงไปมากกว่านี้ แต่หากราคาน้ำมันลดลงอย่างหนัก เงินเฟ้อก็มีโอกาสติดลบ แต่มองว่ามีโอกาสน้อย อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายนนี้กระทรวงพาณิชย์เตรียมปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2559 อีกครั้ง โดยขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก” นายสมเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ใช้ในปัจจุบันคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 0-1% ภายใต้สมมุติฐานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวในกรอบ 2.8-3.8% อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 36-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้คงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี เดือนสิงหาคม 2559 ไว้ที่ระดับ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แม้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหาแอลพีจีทั้งระบบจะลดลงก็ตาม แต่เพื่อเป็นการลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของแอลพีจีและเตรียมการเปิดเสรีธุรกิจในอนาคตจึงให้คงราคาขายปลีกแอลพีจี โดยการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับแอลพีจีเพิ่มขึ้น 0.3261 บาทต่อกก. เป็น 0.3908 บาทต่อกก. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม เป็นต้นไป
จากการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนราคาแอลพีจีมีรายรับประมาณ 133 ล้านบาทต่อเดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 44,268 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีแอลพีจีอยู่ที่ 7,148 ล้านบาท และบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 37,120 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์ราคาแอลพีจีเดือนสิงหาคม 2559 ราคาตลาดโลก (CP) อยู่ที่ระดับ 287 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจากเดือนก่อน 14 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนกรกฎาคม 2559 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.2280 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหาแอลพีจีทั้งระบบ ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นปรับตัวลดลง 0.3261 บาทต่อกก. จาก 13.2543 บาทต่อกก. เป็น 12.9282 บาทต่อกก.