วันที่ 5 มกราคม 2563 เวลา 8.30 น. : ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ ร่วมตรวจเยี่ยมการนำนโยบาย กศน. สช. WOW ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นมิติการทำงานรูปแบบใหม่ที่มีความเชื่อมโยงงานในความรับผิดชอบ เพื่อช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน โดยมี นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร,นายเกื้อกูล ประสงค์ดี รองศึกษาธิการภาค 18,นายสงวนศักดิ์ เศรษฐีธัญญาหาร ศึกษาธิการจังหวัดพิจิตร,ว่าที่ร้อยเอก สาโรช ยกให้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 ตลอดจนนายไพฑูรย์ บัวสนิท ผอ.กศน.จังหวัดพิจิตร และจังหวัดใกล้เคียง คณะครู บุคลากร นักเรียนนักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมจำนวนมาก ณ สำนักงาน กศน.จังหวัดพิจิตร
รมช.ศึกษาธิการฯ กล่าวว่า การจัดการศึกษาของ กศน.จังหวัดพิจิตร ถือว่ามีความโดดเด่นมากในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ด้วยวิสัยทัศน์ “คนพิจิตรได้รับโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตเหมาะสมกับช่วงวัย สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21” ด้วยระบบบริหารงานตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (P D C A) ทำให้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านการศึกษานอกโรงเรียน (N-NET) ของสถานศึกษาทั้ง 12 แห่ง ของจังหวัดพิจิตร ภาครียนที่ 1-2/2562 สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาพื้นฐานอยู่ในระดับน่าพึงพอใจ
ในส่วนของการพัฒนาอาชีพ ก็มีความโดดเด่น และสอดคล้องกับนโยบายพลิกบทบาทของ กศน.สู่ยุคดิจิทัล ทั้ง 6G เช่น โดยเฉพาะ Good Innovation ด้วยการบูรณาการโครงการดิจิทัลชุมชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กฎหมาย ลิขสิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้อง ตามหลักสูตร (e-Commerce) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถโฆษณาสินค้า ขายสินค้า ผ่านร้านค้าออนไลน์ที่เป็นที่นิยม อาทิ Alibaba,Amazon,Lazada,Shopee เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามโมเดล “พิจิตรเมืองนักอ่าน ดาวกระจายสู่ชุมชน” และพัฒนาห้องสมุดผระชาชน “เฉลิมราชกุมารี” ทั้ง 2 แห่ง ให้เป็น Digital library เพื่อให้บริการสื่อเรียนรู้และการอ่านทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ e-Book สามารถสืบค้นข้อมูลข่าวสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ตลอดจนจัดสภาพห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ ส่งสริมการอ่านของประชาชนอย่างเต็มที่ ในส่วนของเครือข่าย Good partnership ได้มีการประสานและขยายความร่วมมือในระดับพื้นที่อยาางเข้มแข็ง ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม อสม. กลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพ และมีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน รวมทั้งจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
“ขอฝากถึงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมแก่กลุ่มผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ที่สำคัญคือการเปิดโอกาสในการทำงาน การได้ใช้ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม ดังเช่นประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่สนับสนุนผู้สูงอายุให้มีงานทำ มีรายได้ ที่จะช่วยสร้างความสุขและความภาคภูมิใจในคุณค่าของผู้สูงอายุในสังคมปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในส่วนของการผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ กศน. Good Innovation พยายามให้มีความหลากหลายมากขึ้น สร้างความแตกต่างของสินค้า ให้มีความ WOW สอดคล้องกับเอกลักษณ์ในท้องถิ่น พัฒนาและออกแบบรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย นำเทคโนโลยียุคดิจิทัลเข้ามาช่วยส่งเสริมการขาย และการจัดจำหน่าย ให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นด้วย
และในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนชาวการศึกษาและทุกภาคส่วนในจังหวัด ได้ร่วมใช้การศึกษานำการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้ากลับคืนสู่เมืองพิจิตรอีกครั้ง ดังเช่นในอดีต โดยเฉพาะครู กศน. ต้องเป็นหลักในการสร้างอาชีพ และสร้างแนวทางใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ชุมชน เพื่อสร้างศรัทธาของครู กศน. ต่อการพัฒนาพื้นที่อย่างเข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การก้าวเดินไปข้างหน้าสู่ความรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนร่วมกัน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว!!
Cr.นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน