ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ที่จะถึงนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขอแนะนำ ให้ประชาชนลดและเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาร้า ปลาส้มดิบ และควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาดถูกหลักอนามัย เพื่อช่วยลดปัญหาในการเกิดโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับอาหารและเทศกาลฤดูหนาว โดยเฉพาะเพื่อเลี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นที่มาของโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตของคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง
มะเร็งท่อน้ำดี เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุน้ำดีทั้งในและนอกตับ โดยพบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีและตับ จำนวน 10,000–20,000 คนต่อปี ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นประชาชนใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดให้โรคพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งชนิดนี้
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช.ได้สนับสนุนโครงการวิจัยท้าทายไทย ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Grand Challenges Thailand : Fluke Free Thailand) แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Cholangiocarcinoma Screening and Café program : CASCAP) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ผ่านโครงการวิจัยการพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อการตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัยและบริหารจัดการผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ในตับ และมะเร็งท่อน้ำดีแบบครบวงจรตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ,ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เกี่ยวข้องกับพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีอย่างทันเวลา เท่าเทียม มีคุณภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากการศึกษาดังกล่าวทำให้ได้นวัตกรรมในการทำกรรมวิธีผลิตปลาร้า และปลาส้มที่ปลอดพยาธิใบไม้ตับ ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการตรวจการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะ รวมถึง Isan Cohort ซึ่งเป็นซอฟแวร์ในการเฝ้าระวังการระบาดวิทยาและใช้ในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีของกระทรวงสาธารณสุข
ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเพียงประเทศเดียว หากแต่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรง กลุ่มประเทศ CLMU (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) อีกด้วย เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ โดยประเทศหลักนับยังเป็นแหล่งระบาดของโรคและทำให้เกิดการระบาดกลับมาในประเทศไทยอีกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการควบคุมโรคอย่างเป็นระบบไปประยุกต์ใช้ในกลุ่ม CLMU เพื่อที่จะให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์และครบวงจร อันจะส่งผลให้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างสำเร็จ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน