ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยม และรับฟังการบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ และประตูระบายน้ำคลองชะอวด -แพรงเมือง ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า พื้นที่บริหารจัดการน้ำ ที่อยู่ในความรับผิดชอบโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังล่าง ครอบคลุม อ.ปากพนัง,อ.เชียรใหญ่,อ.เฉลิมพระเกียรติ และบางส่วนของ อ.หัวไทร รวม 4 อำเภอ มีพื้นที่โครงการ 696,600 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 324,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.50 โดยในส่วนของปัญหาที่พบนั้นได้แก่
1.ปัญหาน้ำท่วม จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือน มกราคม ของปีถัดไป
2.ปัญหาน้ำแล้ง/การขาดแคลนน้ำ จะเกิดในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือน มีนาคม ถึงเดือนมิถุนายน ของทุกปี
3.ปัญหาน้ำเปรี้ยว จะเกิดในช่วงฤดูแล้ง ต่อฤดูฝนช่วงประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม
4.ปัญหาการรุกล้ำและการหนุนสูงของน้ำเค็ม เกิดในช่วง เดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ ของทุกปี
5.ปัญหาน้ำกร่อย จะเกิดในพื้นที่ป่าจากของ ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง ประมาณ 2,500–3,000 ไร่ และ
6.ปัญหาน้ำเสีย เนื่องจากประตูระบายน้ำต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตอนล่างได้จะปิดเก็บกักน้ำจืดช่วงปลายฤดูฝน
ทั้งนี้จากการพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้เกิดการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ภาคเกษตร โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2551 ได้แบ่งพื้นที่การพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ ภาคเกษตรออกเป็น 5 เขตพัฒนาอาชีพภาคเกษตรยกเว้นเขตป่าไม้ ซึ่งมีหน่วยงานสังกัด กระทรวงเกษตรฯ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช,จังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง รวมดำเนินการ เป็น 17 หน่วยงาน 85 โครงการงบประมาณรวม 188,019,535 บาท และในการขับเคลื่อนโครงการนั้น จะมีการจัดประชุม อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นฤดูฝนเดือน ตุลาคม 1 ครั้ง และช่วงต้นฤดูเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เดือน มีนาคม อีก 1 ครั้งโดย “คณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ (JMC)” โดยมีนายอำเภอปากพนังทำหน้าที่ประธาน และมีผู้แทนจากผู้มีส่วนได้/เสีย ภาคส่วนต่างๆที่จะบูรณาการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน