“PMU พบประชาคมวิจัย” เป็นการเปิดเวทีทำความเข้าใจระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU) เกี่ยวกับภาพรวมในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในบริบทของประเทศ การดำเนินงานและรายละเอียดการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมปี 2563-2564 และขอบข่ายการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของ PMU รวมถึงการตอบประเด็นชักถามต่าง ๆ ของประชาคมวิจัย
สืบเนื่องมาจากระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้มีการออกแบบแนวทางการสนับสนุนงบประมาณวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศที่สอดรับกับ “นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ.2563–2570” เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยในปี พ.ศ. 2563 และ 2564 ได้กำหนดให้มี 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่
1)การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2)การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม
3)การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
4)การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ
ตลอดจนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และมี 16 โปรแกรม ผ่านกลไกสำคัญในการบริหารงบประมาณวิจัยโดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (Program Management Unit, PMU) ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประทศ (บพข.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ซึ่งทั้ง 7 หน่วยได้เห็นควรให้มีการประชุมชี้แจงเพื่อร่วมกันในการสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานและกลไกการบริหารจัดการทุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU) ทั้งนี้ ได้มีการจัดกิจกรรม PMU พบประชาคมวิจัย ครั้งที่ 1 ไปแล้วที่กรุงเทพมหานคร และเพื่อให้ประชาคมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือรับทราบรายละเอียดการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมปี 2563-2564 และขอบข่ายการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของ PMบ รวมถึงการตอบประเด็นชักถามต่างๆ ของประชาคมวิจัย
วช. จึงได้จัดประชุมชี้แจง “PMU พบประชาคมวิจัยภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ในครั้งนี้ เพื่อให้ประชาคมวิจัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าใจในการดำเนินงานและกลไกการบริหารจัดการทุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม และสามารถดำเนินการตามแผนงาน / โครงการสำคัญให้บรรลุเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน