ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก เกษตรกรบ้านลานบ่า หมู่16 ต.ลานบ่า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตในนาข้าว ก็ต่างพากันเร่งไถปรับพื้นที่นา ด้วยการใช้รถไถยกร่อง และนำฟางข้าวมาคลุมหน้าดินเก็บความชื้น เพื่อเตรียมดำเนินการเพาะปลูกพืชหลังนา โดยการปลูกยาสูบ สายพันธ์เบอร์เล่ย์ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นอีกหนึ่งอาชีพคู่ชุมชน ที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย
โดย นายสงกรานต์ ภักดีจิตร นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า อาชีพปลูกยาสูบ นับว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่อยู่คู่ชุมชนมาอย่างช้านาน ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และได้รับการสืบทอดมารุ่นต่อรุ่น โดยการปลูกยาสูบ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน หลังเกี่ยวข้าวในนาแล้วเสร็จ โดยใช้รถไถพรวนดิน ยกร่อง และใช้ฟางข้าวคลุมหน้าดินหลังสูบน้ำ เพื่อเก็บความชื้นให้เหมาะสม จากนั้นจะนำต้นกล้ายาสูบ พันธ์เบอร์เลย์ ที่เพาะไว้อายุประมาณ 40-45 วัน มาลงแปลงปลูก ในระยะห่าง 60 x 90 เซนติเมตร และหมั่นดูแลรักษา รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลาอีกประมาณ 70 วัน ถึงสามารถเก็บผลผลิต “ใบยาสูบ” รอบแรก ไปเข้าสู่กระบวนการบ่มใบยาสด ให้เป็นใบยาแห้ง ซึ่งระยะเวลาการบ่มจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในขณะนั้น โดยใบยาสูบ 1 รุ่น สามารถเก็บได้ประมาณ 3 – 4 รอบต่อการปลูก 1 ครั้ง
นายสงกรานต์ ภักดีจิตร นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในปัจจุบัน พบว่าคงเหลือเพียง 2,000 ราย พื้นที่เพาะปลูกราว 5,000 ไร่เศษเท่านั้น ซึ่งจากเดิมเคยมีเกษตรกรมากกว่า 3,000 ราย พื้นที่เพาะปลูกกว่า 10,000 ไร่ แต่หลังจากมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในปี 2560 ทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ประสบปัญหา จนต้องมีการตัดโควต้าใบยาจากชาวไร่ถึงร้อยละ 50 จนส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน ที่ยึดอาชีพปลูกยาสูบหลังการทำนา จนเริ่มขาดอาชีพ ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และไม่มีทุนสำหรับปลูกข้าวในรอบปีถัดไป จึงอยากวอนผู้ที่เกี่ยวข้อง ช่วยพิจารณาขอโควต้ากลับคืนมาให้ชาวไร่ยาสูบ ด้วย
ด้าน นางบัวส้ม ยอยยิ้ม อายุ 52 ปี เกษตรกรชาวไร่ยาสูบรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นที่บ้านทำอาชีพปลูกยาสูบมาโดยตลอด จนได้สานต่อเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวมาถึงปัจจุบัน แต่หลังจากถูกตัดโควต้าลดลง จึงคงเหลือพื้นที่ปลูกยาสูบได้เพียง 3 ไร่ โควต้ารับซื้อ 1,200 กิโลกรัม โดยพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกยาสูบ ได้ประมาณ 2,700 – 3,000 ต้น เมื่อครบอายุเก็บเกี่ยว จะได้ผลผลิตใบยาสด ไร่ละประมาณ 4 ตัน เมื่อเข้าสู่กระบวนการบ่มจนแห้ง จะคงเหลือน้ำหนัก 1 ไร่ ประมาณ 400 กิโลกรัม ขายได้ประมาณ 65 บาทต่อกิโลกรัม มีรายได้เฉลี่ย ไร่ละ 26,000 บาท หักต้นทุนการเพาะปลูก ไร่ละ 10,000 กว่าบาท โดยไม่คิดค่าแรง เนื่องจากลงมือลงแรงทำกันเองในครอบครัว ก็จะคงเหลือรายได้ประมาณ ไร่ละหนึ่งหมื่นกว่าบาท แต่หากจ้างแรงงาน รายได้ก็คงเหลือน้อยลงไปตามค่าจ้าง และหากปีไหนประสบปัญหาภัยธรรมชาติ พายุลูกเห็บ ฝนตกน้ำท่วม หรือ ศัตรูพืชระบาด ก็เสี่ยงที่จะขาดทุนสูงเช่นเดียวกัน
พร้อมกันนี้ ทางสมาคมการค้ายาสูบไทย นำโดย นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย ได้นำคณะฯ เข้าร่วมเยี่ยมชม กระบวนการ ขั้นตอน วิธีการปลูกยาสูบพันธ์เบอร์เลย์ถึงแปลงเพาะปลูก พร้อมทั้งกล่าวแสดงความห่วงใย ถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในปัจจุบัน ที่ทั้งประสบปัญหาถูกตัดโควต้า และท่าทีการปรับภาษีขึ้นไปอีกเป็น 40% ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากไปกว่านี้ได้
มนสิชา คล้ายแก้ว เพชรบูรณ์