นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังการประชุมความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 12 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณามูลค่าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 252.5 กิโลเมตร (กม.) โดยเบื้องต้นประมาณการตัวเลขไว้ที่ 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าอบรมของทางจีน 2 เรื่อง คือ 1.ค่าใช้จ่ายการศึกษาความเหมาะสม และ 2.ค่าฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้า รวมถึงการอบรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งทางจีนจะต้องแยกรายละเอียดออกมาให้ชัดเจนว่าแต่ละเรื่องมีมูลค่าเท่าไร เมื่อได้ตัวเลขทั้ง 2 เรื่องนี้แล้วจึงจะสรุปมูลค่าการลงทุนที่ชัดเจนได้
นายอาคมกล่าวว่า สำหรับการก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ตอนเหมือนเดิม คือตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. ยังคงกำหนดเป้าหมายการก่อสร้างไว้ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ คาดว่านำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะเปิดประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมาเข้ามาก่อสร้างในเดือนกันยายน ส่วนตอนที่ 2 ระยะทาง 11 กม. จากการลงพื้นที่สำรวจพบมีปัญหาเรื่องของแนวเส้นทางบางช่วงที่เป็นดินอ่อน สไลด์ จึงต้องพิจารณาว่าจะใช้แนวเส้นทางเดิมหรือเปลี่ยนแนวใหม่ จึงจำเป็นต้องเลื่อนการส่งแบบออกไป จากเดิมทางจีนต้องส่งให้ไทยเดือนตุลาคม ออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายนแทน ส่วนตอนที่ 3 ระยะทาง 119 กม. และตอนที่ 4 ระยะทาง 119 กม. อยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบ
“เรื่องการกู้เงิน ทางเอ็กซิมแบงก์ของจีนได้หารือกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ของไทย โดยเสนอให้ไทยกู้เป็นสกุลเงินหยวนในอัตราดอกเบี้ย 3.2% แทนการกู้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในอัตราดอกเบี้ย 2% ดังนั้นจึงต้องมาพิจารณาเปรียบเทียบดูให้ชัดเจนอีกครั้งว่าจะใช้รูปแบบไหนจึงจะคุ้มค่ามากที่สุด” นายอาคมกล่าว
นายอาคมกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับร่างสัญญาจ้างจีนในส่วนของการจัดซื้อตัวรถด้วย โดยหลักการจะใช้กฎหมายไทยและต้องเป็นมาตรฐานสากล แต่การพิจารณายังมีหลายข้อไม่ตรงกัน ส่วนงานระบบรางและรถไฟความเร็วสูง (EPC2) รวมเรื่องการออกแบบ จ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน และจัดหาตัวรถนั้น ได้แยกออกเป็น 3 สัญญาคือ 1.สัญญาออกแบบ 2.สัญญาควบคุมงาน และ 3.สัญญาจัดหาระบบตัวรถ ระบบอาณัติสัญญาณ และซ่อมบำรุง รวมถึงเรื่องการฝึกอบรมด้วย