รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมปรับปรุงระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริออต PAC-3 ก่อนโตเกียวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกส์ 2020 โดยจะเพิ่มทั้งพิสัยการยิง และความแม่นยำในการโจมตีขีปนาวุธเป้าหมาย เพื่อให้สามารถสกัดกั้นจรวดรุ่นใหม่ๆ ของเกาหลีเหนือที่มีความทันสมัยมากขึ้น
แหล่งข่าว 4 คนที่ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ ระบุว่า แผนอัปเกรดขีปนาวุธ PAC-3 คราวนี้ถือเป็นการยกเครื่องระบบป้องกันขีปนาวุธครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์การเมืองรอบญี่ปุ่นที่ทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
แหล่งข่าวซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เผยข้อมูลต่อสาธารณะ ระบุว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธ Missile Segment Enhancement ซึ่งผ่านการอัปเกรดให้มีพิสัยยิงไกลกว่า PAC-3 อีก 1 เท่าตัวเป็น 30 กิโลเมตร น่าจะเริ่มเปิดตัวได้ภายในปีหน้า
“PAC-3 ที่ผ่านการอัปเกรดคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องมี เพื่อสกัดกั้นขีปนาวุธมูซูดัน” แหล่งข่าวคนหนึ่งเผย โดยอ้างถึงจรวดพิสัยกลางที่เกาหลีเหนือใช้อยู่
เมื่อเดือน มิ.ย. เกาหลีเหนือได้ทดสอบยิงขีปนาวุธมูซูดันพร้อมกัน 2 ลูก ซึ่งแม้ลูกแรกจะล้มเหลว แต่ลูกที่สองสามารถเดินทางไปได้ไกลถึง 400 กิโลเมตร หรือ “เกินครึ่งทาง” ก่อนที่จะถึงชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น
ขีปนาวุธของโสมแดงยังพุ่งแหวกอากาศขึ้นไปถึงความสูง 1,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งสูงพอที่จะนำหัวรบวกกลับลงมาถล่มเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปกว่า 3,000 กิโลเมตรได้
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การทดสอบครั้งนั้นพิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นว่าเปียงยางมีเทคโนโลยีจรวดที่ล้ำหน้าเพียงใด และยังไม่หยุดที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
ด้วยพัฒนาการถึงขั้นนี้ เกาหลีเหนืออาจสามารถยิงหัวรบพุ่งลงมาใส่เป้าหมายด้วยความเร็วหลายกิโลเมตรต่อวินาที และอาจเร็วเกินกว่าที่ระบบ PAC-3 ในปัจจุบันจะป้องกันไว้ได้ทัน
ด้านกองทัพเกาหลีใต้มีระบบขีปนาวุธ PAC-2 ซึ่งเป็นรุ่นเก่ากว่าใช้งานอยู่ และมีแผนจะนำระบบ PAC-3 เข้ามาทดแทนภายในปี 2018 ขณะที่กองกำลังสหรัฐฯ ซึ่งประจำการอย่างถาวรอยู่ในแดนโสมขาวก็เตรียมที่จะอัปเกรดระบบ PAC-3 ให้มีพิสัยครอบคลุมพื้นที่กรุงโซลทั้งหมด
นอกจากการทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือแล้ว ข้อพิพาททางทะเลระหว่างจีนและญี่ปุ่นเกี่ยวกับหมู่เกาะเซ็งกากุ หรือเตี้ยวอี๋ว์ ในทะเลจีนตะวันออก ตลอดจนปัญหาทะเลจีนใต้ระหว่างปักกิ่งกับอีกหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคตึงเครียดขึ้นทุกขณะ
รัฐบาลจีนก็ได้ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลปรับปรุงประสิทธิภาพกองทัพ เพื่อรับมือยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ของสหรัฐฯ ในเอเชีย
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า “ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น” เกี่ยวกับแผนอัปเกรดระบบ PAC-3
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวเผยว่าการที่ญี่ปุ่นได้รับเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลให้เป็นเจ้าภาพกีฬาในปี 2020 น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีพอที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณปรับปรุงระบบ PAC-3 แม้งบกลาโหมจะค่อนข้างฝืดเคืองก็ตาม
วงเงินราว 100,000 ล้านเยนที่จะใช้สำหรับปรับปรุงระบบ PAC-3 จะถูกบรรจุไว้ในร่างงบประมาณปี 2017 และต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเสียก่อน ส่วนงบประมาณเสริมก็จะมีการทำเรื่องเบิกจ่ายในปีถัดๆ ไป แหล่งข่าวระบุ
รัฐบาลโตเกียวยังอยู่ระหว่างพิจารณาจัดซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธในบรรยากาศชั้นสูง (Terminal High Altitude Area Defense – THAAD) เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้ตนเอง หลังจากวอชิงตันและโซลได้บรรลุข้อตกลงนำระบบนี้เข้าไปติดตั้งในเกาหลีใต้เพื่อสกัดภัยคุกคามจากเปียงยาง
แผนการนำระบบ THAAD เข้าไปยังคาบสมุทรเกาหลีสร้างความไม่พอใจต่อรัสเซีย และจีน ที่มองว่าวอชิงตันกำลังฉวยโอกาสสำแดงอำนาจทางทหารในภูมิภาคนี้
โตเกียวยังมีฝูงเรือพิฆาตเอจิสซึ่งติดตั้งขีปนาวุธสกัดกั้นสำหรับลาดตระเวนในทะเลญี่ปุ่น และกำลังร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาระบบที่เรียกว่า Standard Missile 3 (SM-3) ซึ่งจะถูกออกแบบให้สามารถยิงทำลายหัวรบได้ในอวกาศ
PAC-3 เป็นระบบป้องกันขีปนาวุธที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน คอร์ป และ เรย์ธีออน โค.ของสหรัฐฯ
มิตซูบิชิ เฮฟวี อิสดัสตรีส์ (MHI) ซึ่งได้รับอนุญาตจากบริษัททั้งสองแห่ง จะเริ่มพัฒนาปรับปรุงระบบ PAC-3 ในญี่ปุ่นหลังจากเดือน เม.ย. ปี 2017 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มอัปเกรดหมู่อาวุธ (battery) จำนวน 12 หมู่ในปีแรก และอีก 12 หมู่ในปีถัดไป ส่วนที่เหลืออีก 4 หมู่จะเริ่มดำเนินการภายใน 12 เดือนหลังจากนั้น
ระบบ PAC-3 ที่ใช้สำหรับป้องกันกรุงโตเกียวจะได้รับการปรับปรุงก่อนเพื่อน ส่วนที่ใช้เพื่อการฝึกซ้อมจะไม่ถูกอัปเกรด แหล่งข่าวเผย