ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน “บทเรียนสู่การปฏิบัติเพื่อการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน” (Key Message from DS-SLM Implementation for Sustainable Land Management) ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการ Decision Support for Mainstreaming and Scaling up of Sustainable หรือ DS-SLM ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ว่า โครงการ DS-SLM เป็นการทำงานภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างบุคลากรภาครัฐ ท้องถิ่น คณาจารย์มหาวิทยาลัยจากองค์กรอิสระเพื่อสังคม โดยเฉพาะชุมชน เกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรดินในพื้นที่เกษตรกรรม และเขตป่าไม้จนได้มาของความสำเร็จที่น่าชื่นชม
ทั้งนี้ การประเมินความเสื่อมโทรมของที่ดินและมาตรการการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน จะเป็นข้อมูลสนับสนุนการทำงานด้านการสงวน อนุรักษ์ และปกปักรักษา ในมิติของการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน เกษตรกรมีความมั่นคง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยท้องถิ่นและชุมชนเป็นฝ่ายกำหนดมาตรการ และแนวปฏิบัติเฉพาะที่สำหรับชุมชนนั้นๆ ส่วนการรวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการที่ดินจากเกษตรกรและกรมพัฒนาที่ดิน จำนวนมากถึง 40 เทคโนโลยี ซึ่งมีการจัดการข้อมูลจนสามารถถ่ายทอดสู่เกษตรกร สามารถปฏิบัติได้จริงทั้งในประเทศและต่อยอดระดับนานาประเทศผ่านฐานข้อมูลเว็บไซต์ของ WOCAT (โว-แคท) และ UNCCD Knowledge Hub ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ซึ่งเป็นที่น่ายินดีสำหรับการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม โดยนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ร่วมกับชุมชน
“ที่ดินที่ได้รับการจัดสรรให้เกษตรกรตามนโยบาย คทช. และ ส.ป.ก. นั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ถูกใช้งานมานาน ทำให้ไม่ได้รับการดูแล ส่งผลให้สภาพดินไม่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ประกอบกับขาดระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น อาทิ แหล่งน้ำ ไฟฟ้า และถนน เป็นต้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดินจึงได้เข้ามาพัฒนาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และเหมาะสมแก่การทำการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรที่ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่นั้นๆ สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน มิใช่การจัดสรรที่ดินทำกินเพียงอย่างเดียว” รมช.ธรรมนัส กล่าว
สำหรับการขับเคลื่อนและขยายผลกิจกรรมด้านการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน (sustainable land management: SLM) ต้องคำนึงถึงความท้าทายเพื่อแก้ไขปัญหาใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านหน่วยงานและนโยบาย ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านความรู้และเทคโนโลยี ดังนั้น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) ได้จัดทำโครงการความร่วมมือโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน (Decision Support for Mainstreaming and Scaling up of Sustainable Land Management, DS-SLM) ร่วมกับประเทศต่างๆ 15 ประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้หลักการดำเนินงานแบบบูรณาการทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติ โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ และฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงจากระดับพื้นที่สู่ระดับภูมิภาค และระดับโลกช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายผลและขับเคลื่อนการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในเชิงนโยบาย รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โครงการ DS-SLM ดำเนินการในลักษณะร่วมกันดำเนินการระดับโลก โดยมี FAO เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานร่วมกับประเทศอีกจำนวน 15 ประเทศ ได้แก่ อาเจนติน่า,บังคลาเทศ,บอสเนีย,จีน,โคลัมเบีย,เอกวาดอร์,เลโทโซ,โมร็อกโค,ไนจีเรีย,ปานามา,ฟิลิปปินส์,ตูนีเซีย,ตุรกี,อุซเบกิสถาน และไทย ซึ่งประเทศไทย โดยกรมพัฒนาที่ดินในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานร่วมกับ FAO มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการตามกรอบการดำเนินงานโครงการซึ่งเกี่ยวกับการจัดทำแผนที่ระบบการใช้ที่ดิน การประเมินความเสื่อมโทรมของที่ดิน การประเมินมาตรการการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน รวมทั้งกิจกรรมการสร้างความตระหนัก ฐานข้อมูลองค์ความรู้ และการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนและขยายผลมาตรการการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน โดยการจัดสัมมนาวิชาการในครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอผลการดำเนินโครงการ DS-SLM ต่อผู้กำหนดนโยบาย และผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประเด็นความเสื่อมโทรมของที่ดิน และมาตรการในการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนและขยายผลมาตรการการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนอีกด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน