ทหารเรือเยอรมนี จัดหาเรือดำน้ำชั้น 206 จำนวน 18 ลำ ในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กที่มีความคล่องตัวสูงมาก มีระวางขับน้ำ 500 ตัน ใช้โครงสร้างตัวเรือจากโลหะที่ไม่มีอำนาจแม่เหล็กที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการ ปฏิบัติการในพื้นที่น้ำตื้นบริเวณทะเลบอลติก เรือดำน้ำชั้น 206 จำนวน 12 ลำ ได้รับการปรับปรุงในช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นเรือดำน้ำชั้น 206A ประกอบด้วยการปรับปรุงระบบตรวจจับ, ระบบอาวุธ และระบบอำนวยการรบ
หลังจากที่โครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น 206A ของ ทร.ไทยไม่ประสบความสำเร็จ ทร.โคลอมเบียซึ่งมีประสบการณ์กับเรือดำน้ำชั้น 209 จากเยอรมนีอยู่แล้ว 2 ลำเป็นเวลาหลายสิบปี ได้จัดซื้อเรือดำน้ำชั้น 206A จำนวน 4 ลำจาก ทร.เยอรมนี โดยเป็นเรือดำน้ำพร้อมใช้จำนวน 2 ลำ คือเรือดำน้ำ ARC Indomitable และ ARC Intrepid กับเรืออะไหล่จำนวน 2 ลำ โดยได้เริ่มการปรับปรุงเรือเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ประกอบด้วยการเปลี่ยนแบตเตอรี่ และการปรับปรุงระบบระบายความร้อนสำหรับการปฏิบัติงานในภูมิอากาศเขตร้อน ในขณะที่ยังคงใช้ระบบอำนวยการรบ ISUS-83 และระบบโซนาร์ CSU-83 แบบเดิม โดยเรือ ดำน้ำชั้น 206A ทั้ง 2 ลำ เสร็จสิ้นการปรับปรุงเรือเมื่อเดือนพฤจิกายน 2558 และเดินทางถึงฐานทัพเรือ ARC Bolivar ของ ทร.โคลอมเบียในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน
เรือดำน้ำชั้น 206A มีกำลังพลประจำเรือ 24 นาย มีระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,500 ไมล์ทะเล สามารถปฏิบัติการต่อเนื่องได้ 15 วันโดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง ตัวเรือดำน้ำมีทางเข้า-ออก 2 ทาง ประกอบด้วย Access Hatch บริเวณหัวเรือซึ่งเป็นทางเข้า-ออกหลัก และ Access Hatch บนสะพานเดินเรือสำหรับการเดินเรือบนผิวน้ำ
ภายในตัวเรือแบ่งออกเป็น 4 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องตอร์ปิโด, ห้องศูนย์ยุทธการ, ห้องควบคุมเครื่องจักร และห้องเครื่องจักร โดยห้องตอร์ปิโดติดตั้งท่อตอร์ปิโด 8 ท่อ และมีเตียง 2 ชั้นสำหรับนายทหารประทวน 16 นาย กับมีโต๊ะพับสำหรับใช้เป็นห้องรับประทานอาหารและบริเวณพักผ่อนไปในตัว ส่วนนายทหารสัญญาบัตร 6 นาย จะมีห้องพักขนาด 4 เตียงซึ่งจะต้องสลับกันใช้แบบ Hot Bunk และมีเพียงผู้บังคับการเรือเท่านั้นที่มีห้องส่วนตัว ภายในห้องตอร์ปิโดจะมีกำลังพลควบคุมระบบอาวุธปฏิบัติงานประมาณ 3-4 นาย
ระหว่างห้องตอร์ปิโดกับห้องศูนย์ยุทธการจะมีห้องครัวและห้องน้ำซึ่งมีเพียงห้องเดียวภายในเรือ โดยเป็นทั้งห้องส้วมและห้องอาบน้ำภายในห้องเดียวกัน ส่วนห้องครัวจะเป็นมุมแคบๆ มีอุปกรณ์สำหรับทำอาหารให้กับกำลังพลประจำเรือ 24 นายทุกวัน วันละ 3 มื้อ โดยการจัดเก็บเสบียงจะกระจายไปตามห้องต่างๆ ภายในเรือให้เพียงพอสำหรับการปฏิบัติการเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
ห้องถัดจากห้องตอร์ปิโด คือห้องศูนย์ยุทธการ ภายในประกอบด้วยระบบอำนวยการรบและกล้อง Periscope จำนวน 2 กล้อง แบ่งเป็นกล้อง Search Periscope สำหรับใช้ในการเดินเรือและตรวจสอบเป้าทั่วไป กับกล้อง Attack Periscope สำหรับผู้บังคับการเรือใช้ในการโจมตีเป้าเท่านั้น กล้อง Periscope สามารถหมุนได้ 360 องศารอบทิศทาง ปรับมุมกระดกก้ม-เงงยได้ ปรับการซูมขยายภาพได้ และมีเลนส์กรองแสงสำหรับปรับความสว่าง ภายในห้องศูนย์ยุทธการจะมีกำลังพลปฏิบัติงานประมาณ 6-7 นาย
ห้องที่ 3 คือห้องควบคุมเครื่องจักร ทำหน้าที่ควบคุมระบบไฟฟ้าและระบบขับเคลื่อนของเรือ ประกอบด้วย การจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ไปยังอุปกรณ์ต่างๆ และการใช้เครื่องยนต์ดีเซลในการชาร์จแบตเตอรี่, การควบคุมสภาพอากาศภายในเรือ รวมทั้งการควบคุมปริมาณของเหลวในถังต่างๆ ภายในเรือเพื่อรักษาระดับแรงลอยตัวให้คงที่ นอกจากนี้การควบคุมหางเสือและระดับความลึกของเรือจะทำจากห้องนี้ด้วย โดยมีเครื่องถือท้าย 3 เครื่อง สำหรับการควบคุมหางเสือ, หางเสือระดับท้ายเรือ และหางเสือระดับหัวเรือ ภายในห้องควบคุมเครื่องจักรจะมีกำลังพลปฏิบัติงานประมาณ 7-8 นาย
ห้องสุดท้ายคือห้องเครื่องจักร ประกอบด้วยเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ 2 เครื่อง, มอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับขับเคลื่อนใบจักร และเครื่องจักรช่วยอื่นๆ เช่น เครื่องอัดอากาศ, ระบบหมุนเวียนอากาศภายในเรือ และระบบไฮดรอลิกส์ เป็นต้น ภายในห้องนี้จะมีอุณหภูมิสูงประมาณ 40 องศาเซลเซียส และจะไม่มีกำลังพลปฏิบัติงานประจำในห้อง มีเพียงการหมุนเวียนมาตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ตามวงรอบเท่านั้น โดยในระหว่างเรือจอดที่ท่าเรือจะไม่จำเป็นต้องเดินเครื่องจักรต่างๆ ภายในเรือ แต่จะมีการเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ บนท่าเรือ เช่น ระบบไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ เป็นต้น