จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าว โรงเรียนเอกชนหลายแห่ง เรียกรับเงินคืนจากเงินเดือนของครู โดยการบังคับครูเซ็นต์บริจาคให้กับทางโรงเรียนทุกเดือน เพื่อแลกกับการมีงานทำนั้น
ดร.อรรถพล ตรึกตรอง รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เปิดเผยว่า มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง โดยสาเหตุของปัญหาเกิดจากการที่เงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนที่สมทบเป็นเงินเดือนครูไม่เพียงพอกับค่าตอบแทนครู และเป็นปัญหาในทุกพื้นที่ เนื่องจาก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้กับครูโดยตรง แต่จะสมทบกับเงินอุดหนุนรายบุคคลของนักเรียนในอัตราคนละ 7,224.50 บาทต่อคน/ปี สำหรับระดับก่อนประถมศึกษา และประถมศึกษา ส่วน 9,032.50 บาทต่อคน/ปี สำหรับระดับมัธยมศึกษา ซึ่งสมทบรวมกับค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เป็นค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่รัฐอุดหนุนให้ โดยโรงเรียนจะต้องนำเงินจำนวนนี้จ่ายเป็นเงินเดือนครูเป็นอันดับแรก และที่เหลือจ่ายเป็นการจัดการเรียน การสอน พัฒนาสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ปรับปรุงอาคารสถานที่ ฯลฯ ซึ่ง พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน กำหนดให้โรงเรียนเป็นผู้จ้าง บรรจุ และจ่ายเงินเดือนครูเอง หากโรงเรียนบรรจุครูมากเกินไป ทำให้เป็นปัญหาค่าตอบแทนเงินเดือนครูไม่เพียงพอและไม่มีเงินเหลือเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน ในส่วนอื่นๆ ซึ่งทาง สช. ได้กำชับให้โรงเรียน บรรจุครู และบุคลากรในสัดส่วนที่เหมาะสม และ สช. จะได้หาวิธีการกำหนดมาตรฐานการบรรจุครูด้วยเช่นกัน
และตามที่มีการนำเสนอข่าวทางโซเชี่ยลมีเดียในเรื่องดังกล่าวในพื้นที่ภาคอีสาน ตนได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงพื้นที่ในการดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วนแล้ว เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดร.อรรถพลฯ กล่าวในที่สุด
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน