ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี รายงานข่าวมาจากจังหวัดสิงห์บุรีว่า ในวันนี้ ใน วันศุกร์ ที่ 8พฤศจิกายน 2562 โดยมี นางสาวกมลพร พูลเพียร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโบสถ์(อำเภอท่าช้าง) เปิดเผยว่า เนื่องในวันลอยกระทงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ในปีนี้ วัดโบสถ์ ท่าช้าง เป็นวัดเก่าแก่มีอายุมากว่า 100 ปี เป็นวัดที่มีการจัดลอยกระทงต่อเนื่องเป็นประเพณีมาตลอด และในปี 2562 นี้ จะเป็นปีที่มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงที่ 60 ทางวัดโบสถ์ และโรงเรียนวัดโบสถ์ จึงได้ร่วมกับเทศบาลตำบลถอนสมอ จัดงานประเพณีลอยกระทรงประจำปี 2562 ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นการสร้างสีสันแห่งสายน้ำแม่น้ำน้อย ให้ประชาชนได้ร่วมกันรักษาประเพณีอันดีงามนี้เอาไว้ โดยในค่ำคืนของวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 จะมีการละเล่นมากมาย อาทิ รำวงย้อนยุค การแสดงศิลปะกระบี่กระบอง การประกวดกระทง และการแสดงของนักเรียนโรงเรียนวัดโบสถ์
นอกจากนี้ในโอกาสที่เป็นปีที่ 60 ของการจัดงานประเพณีลอยกระทงของวัด ทางวัดโบสถ์จะได้นำพระพุทธรูปทองสมัยสุโขทัยที่สวยงาม ออกมาให้ประชาชนได้สักการะบูชาเป็นครั้งแรก จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวสิงห์บุรี มาร่วมอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทย ในงานลอยกระทงที่วัดโบสถ์ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี
นางสาวกมลพร พูลเพียร ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดโบสถ์ ได้เล่าประวัติความเป็นมา ให้กับทีมข่าวฟังว่า
โรงเรียนวัดโบสถ์
โรงเรียนวัดโบสถ์ เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2465 มีนายผิน มั่งสายทอง เป็นครูใหญ่ มีนักเรียน 65 คน อาศัยศาลkดินของวัดเป็นสถานที่เรียนต่อมาใช้ศาลาการเปรียญ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2505 คณะกรรมการการศึกษาประชาชน โดยการนำของพระครูเมธาประยุตต์ เจ้าวัดอาวาสวัดโบสถ์พร้อมด้วยคณะครูโรงเรียนวัดโบสถ์ และนายจรูญ ศิริรัตตานนท์ นายอำเภอวัดโบสถ์ เป็นผู้นำในการหาทุนและดำเนินการสร้างอาคารเรียน แบบ ป.002 โดยตั้งเสาติดคานตรง ในที่ดินของวัดโบสถ์ (ทีธรณีสงฆ์)ปี พ.ศ.2508 ได้งบประมาณ 4,500 บาท พร้อมด้วยประชาชน บริจาคสมทบอีก1,500 บาท สร้างต่อเติมเป็น 5 ห้องเรียนจแล้วเสร็จ จึงได้ย้ายจากศาลา การเปรียญมาเรียนเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2509 ปี พ.ศ.2539 ได้จัดการศึกษาเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปที่ 3
ปี พ.ศ.2549 ได้จัดการศึกษา 3 ระดับ คือ
ระดับก่อนประถมศึกษา(ปฐมวัย)
ระดับประถมศึกษา
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
วัดโบสถ์ ห่างจากตัวเมือง ไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-ชัยนาท (สายเก่า)ประมาณ ๑๖ กม. เป็นพระอารามหลวง เดิมเป็นวัดร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในวัดมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี และพระอุโบสถเพียงแห่งเดียวที่สร้างโดยใช้รางรถไฟเป็นแกนกลางข้างล่าง
วัดโบสถ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี หรือเป็นพระอารามหลวงวัดแรกในจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเทพสุทธิโมลี เป็นผู้มีอุปการะคุณต่าง ๆ ต่ออำเภออินทร์บุรี และเป็นวัดที่มีพระภิกษุ สามเณรเป็นจำนวนมาก
ภายในวัดยังมีโรงเรียนวัดโบสถ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประถม พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินทร์บุรี หอสมุดแห่งชาติ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม (โรงเรียนพระภิกษุ สามเณร) เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ตั้งแต่ ม. 1 – 6 เป็นสถานศึกษาของสามเณรทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งในปัจจุบันนี้มีสามเณรที่เรียนประมาณ 90 รูป
ประวัติวัดโบสถ์
วัดโบสถ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลอินทร์บุรีอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อานาเขตทิศเหนือยาว ๑๔๐ เมตร ติดต่อกับหมู่บ้านเอกชน ทิศใต้ยาว ๒๘๕ เมตร ติดต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตกยาว ๒๙๐ เมตร ติดกับถนนหลังวัด ลักษณะทั่วไปพื้นที่ เป็นที่ราบรุ่มน้ำท่วมถึง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ความเป็นมา
วัดโบสถ์เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมากลายเป็นวัดร้าง จนถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีพระภิกษุ ๓ รูป คือ พระอาจารย์คง พระอาจารย์แผน และพระอาจารย์ต่าย แห่งวัดประยูรวงศาวาส ได้มาถากถางปลูกเป็นกระท่อมผักอยู่ที่วัดโบสถ์นี้ ต่อมาชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัด มีขุนจ่าเมือง (นิล) และอุบาสกคำ เป็นหัวหน้าช่วยกันสร้างกุฏิและศาลาให้เป็นที่พำนักอาศัย โดยมีพระอาจารย์คง ปกครองวัดอยู่ได้นาน ๔ ปี จึงลาสิขา พระฉ่ำซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์คง จึงไดปกครองวัดต่อมา และขุนจ่าเมืองอินทร์เป็นหัวหน้าบำรุงอุปถัมภ์วัดให้เจริญในด้านการก่อสร้างขึ้นมาระยะหนึ่ง เมื่อพระอาจารย์ฉ่ำมรณภาพ พระอาจารย์เอม ได้ซ่อมแซมเสนาสนะหลายอยาง เช่น กุฏิ ศาลา และอุโบสถ โดยมีพระศักดิ์บุรีนทร์เป็นหัวหน้าในการสร้างพระอุโบสถด้วย
วัดโบสถ์เดิมเป็นวัดมหานิกาย ภายหลังเปลี่ยนเป็นวัดธรรมยุต เพราะมีพระสงฆ์วัดโบสถ์ไปเปลี่ยนแปลงเป็นวัดธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหาร. กรุงเทพฯ และได้ศึกษาพระธรรมวินัย กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมหมื่นวชิรญาณวโรรส จนโปรดและทรงจัดให้พระครูสังฆบิบาล (อิน) นำคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร อีก ๒ รูป มาอยู่วัดโบสถ์ คือ พระสมุห์ยิ้ม และพระห่วง พร้อมด้วยพระวัดโบสถ์ที่มาศึกษาอีก ๔ รูป คือ พระลม พระศิษ พระเฟื่อง และพระลา เป็นพระธรรมยุตมาอยู่วัดโบสถ์ เมื่อ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๘
การดำเนินของกรมการศาสนาได้ดำเนินการต่อไป
วัดโบสถ์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
อนึ่ง เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาท พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ และสมเด็จพระเจ้าฟ้าจุฬาพรวลัยรักษ์ ได้เสด็จมาทรงตัดลูกนิมิตพระอุโบสถ และได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท เพื่อบำรุงวัดนี้ด้วย
วัดโบสถ์ก่อนที่จะได้รับยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงนั้น มีเจ้าอาวาส ปกครองมามาตามลำดับ ดังนี้
1. พระอาจารย์คง ปกครองวัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2416 เป็นเวลา 4 ปี
2. พระฉ่ำ รักษาการเมื่อพระอาจารย์คงลาสิขา
3. พระอาจารย์เอม ปกครองวัดนานถึง 10 และลาสิขาเมื่อปี พ.ศ. 2473
4. พระครูสังฆบริบาล (อิน) เป็นพระธรรมยุตรูปแรกที่ปกครองวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 สร้างความเจริญให้กับจนได้เลื่อนสมณศักดิ์ที่ พระครูสิงหบุราจารย์ เจ้าคณะใหญ่จังหวัดสิงห์บุรี ทำให้การศึกษาของวัดเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ปกครองวัดอยู่นาน 9 ปี ก็ถึงแก่มรณภาพที่ภูมิลำเนาเดิมของท่านเมื่อ ปีมะโรง เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2447
5. พระสิงหบุราจารย์ (ลบ ฐิตาโภ) ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2447-2497
6. พระครูธรรมวรานุยุตติ์ (ฟู อาภาคโม) ปกครองวัดตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2497 – 2500
7. พระราชเมธาภรณ์ (ผึ่ง โรจโน) ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2500 – เป็นต้นมา พัฒนาวัดจนรุ่งเรืองทุกด้าน และได้เลื่อนสมณศักดิ์ “พระเทพสุทธิโมลี” มรณภาพเมื่อ วันที่ 20 เมษายน 2525
8. เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน พระสุนทรธรรมโสภิต (ประยงค์ ปภาโส) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2526 ปัจจุบัน ได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระราชวินัยเวที และเป็นเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี – อุท้ยธานี – ชัยนาท (ธรรมยุต)
โดย พระสุพล สุภวโร
ประวัติโรงเรียนวัดโบสถ์อินทร์บุรี
โรงเรียนวัดโบสถ์อินทร์บุรี เป็นโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาตั้งอยู่ที่วัดโบสถ์ เลขที่ 109 หมู่ที่ 1 ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี จัดตั้งโดย พระเทพสุทธิโมลี ( ผึ่ง โรจโน ) ขณะทรงสมณศักดิ์เป็นพระราชเมธาภรณ์ ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี (ธรรมยุต) ได้รับอนุญาตการจัดตั้ง ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา พ.ศ. 2514 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนวัดโบสถ์อินทร์บุรี” อนุญาตให้เปิดทำการสอน ตั้งแต่ ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง 18.00 น.ทุกวันและหยุดเรียนในวันโกนและวันพระ
โดย พระสุพล สุภวโร
– พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี –
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดโบสถ์ เป็นสถานที่รวบรวม เก็บรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีมากมาย เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๒๐ – ๑๖.๓๐
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี
เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดโบสถ์มาก่อน ต่อมาได้รวบรวมโบราณวัตถุและสิ่งของต่าง ๆ ที่เก็บรวบรวมไว้ออกมาจัดแสดงในรูปของพิพิธภัณฑ์วัด โดยมีพระเทพสุทธิโมลี (ผึ่ง โรจโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี – อุทัยธานี เป็นประธานดำเนินการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ให้ความสนใจบริจาคโบราณวัตถุ พร้อมทั้งเข้าชมเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น ทำให้อาคารไม้เก่าแก่หลังนี้ ไม่สะดวกแก่ผู้เข้าชม คุณนายเพิ่ม ดุริยางกูร จึงได้ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ให้ชื่อว่า ตึกเพิ่ม ดุริยางกูร และได้นำโบราณวัตถุออกมาจัดแสดง ปรากฏว่าโบราณวัตถุยังเหลืออีกมาก จึงพิจารณาซ่อมแซมปรับปรุงศาลาการเปรียญขึ้นเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์อีกหนึ่งหลัง ศาลาการเปรียญหลังนี้ เดิมสร้างขึ้นด้วยความริเริ่มของพระศักดิ์บุรินทร์ เจ้าเมืองอินทร์บุรี คนสุดท้าย จึงให้ชื่อศาลาการเปรียญหลังนี้ว่า ศาลาศักดิ์บุรินทร์ ทางวัดได้พิจารณาเห็นว่าทั้งอาคารและโบราณวัตถุพร้อมที่จะแสดงให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงได้ส่งมอบอาคารและโบราณวัตถุให้แก่กรมศิลปากร พร้อมกันนี้ได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี
การจัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ
ได้จัดแสดงบนอาคารศักดิ์บุรินทร์ และอาคารเพิ่ม ดุริยางกูร
โบราณวัตถุที่เกี่ยว่ข้องกับพระพุทธศาสนา ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น พระพุทธรูปต่าง ๆ ธรรมจักร ตาลปัตรพัดยศ เครื่องประกอบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์
นอกจากการจัดแสดงโบราณวัตถุ ทางพิพิธภัณฑ์ยังมีหน้าที่รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และยังให้บริการทางด้านการศึกษา โดยให้ความรู้ บรรยายนำชมทั้งในและนอกสถานที่ โดยเปิดให้เข้าชมการจัดแสดงตั้งแต่วันพุธ – วันอาทิตย์ ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดที่สำคัญ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนเร่งเร้าให้ชาติเกิดความสำนึกและภาคภูมิใจ ร่วมใจกันอนุรักษ์ศิลปวัตถุ และโบราณวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกของชาติให้คงอยู่สืบต่อไป
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา
กชกร พวยไพบูลย์
ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี