ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพจังหวัดลพบุรี รายงานข่าวมาจากสิงห์บุรีว่า ในวันนี้ วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2562) ทางไปจังหวัดสิงห์บุรี ได้จัดแถลงข่าว ทอดผ้าป่าผีตาย ประจำปี 2562
เทศกาลผีสิง(ห์) ประจำปี 2562
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลพบุรี เข้าร่วมงานแถลงข่าวทอดผ้าป่าผีตาย ประจำปี 2562 ครั้งที่ 5 และโครงการสืบสานประเพณีลอยกระทง ส่งเสริมวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2562 ณ วัดเสาธงทอง ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี โดยมี นายพรรธวัสคุ์ นิลพัฒน์ ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองสิงห์บุรี, นายสุชีพ โกมล นายกอบต.บางมัญ
นายวิเชษฐ โกมล กำนัน ต.บางมัญ และอ.สมองค์ ธรรมโชติ เป็นผู้แถลงข่าว
สำหรับงานฯดังกล่าว เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวบ้าน ต.บางมัญ จ.สิงห์บุรี ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ปฏิบัติกันมา
ประเพณีทอดผ้าป่าผีตายนี้มักทำกันในวันลอยกระทง มีที่มาจากพื้นที่ ต.บางมัญ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มักจะพบผีตายลอยน้ำและไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ชาวบ้านต้องช่วยกันนำศพไม่มีญาติมาเผาที่วัดเสาธงทอง ในวันลอยกระทงของทุกปีชาวบ้านจึงร่วมกันทอดผ้าป่าอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตที่ลอยน้ำมาให้ไปสู่ที่สุคติ
สำหรับงานฯดังกล่าว จะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2562 โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
ขบวนผ้าป่าเคลื่อนขบวนจากในตัวอำเภอเมือง ณ วัดโพธิ์แก้วนพคุณ แห่ผ้าป่าไปทอด ณ วัดต่างๆ
ชมการประกวดทำน้ำยาขนมจีนของชาวบ้านบางเลา ของดีของเด่นของชาวบ้านตำบลบางมัญ
ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมให้กับศพไร้ญาติ
กิจกรรมประกวดนางนพมาศและประกวดกระทงสวยงาม
ชมมหรสพ และรำวงย้อนยุค
ผ้าป่าผีตาย
ในสมัยเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อน ในภาคกลางของประเทศไทยมีการทำบุญผ้าป่าชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างจะพิเรนทร์อยู่ซักหน่อย เรียกว่า ผ้าป่าผีตาย
กล่าวคือในสมัยก่อนเวลาที่มีคนตายบางทีก็จะตั้งเอาศพไว้ที่บ้าน แล้วนิมนต์พระมาสวด เพราะในสมัยก่อนการเดินทางไม่ได้สะดวกสบายถนนหนทางอะไรก็ไม่มี
ในกรณีที่มีคนตายการจะขนศพไปไว้ที่วัดบางครั้งจะลำบากมาก เลยใช้วิธีให้พระมาสวดศพให้ที่บ้านในเวลากลางคืน
ในสมัยก่อนงานศพโดยทั่วไปไม่ได้มีมหรสพใดๆเหมือนสมัยนี้ หลังจากพระสวดศพเสร็จก็จะมีแค่ญาติพี่น้องเท่านั้นที่นอนเฝ้าศพกัน พออยู่กันดึกๆเข้าก็กินเหล้ากันตามประสาจนคิดหาวิธีทำบุญกันแบบอตริเล่นกันแก้เบื่อ
การทำบุญผ้าป่าผีตายนั้น จะไม่เลือกวัดใกล้บ้าน แต่จะเลือกวัดที่อยู่ห่างออกไปมาก เดินทางกันไปนิมนต์พระต่างวัดและจะนิมนต์มาเพียงรูปเดียว ส่วนใหญ่จะเลือกนิมนต์พระเจ้ากุฏิ(หมายถึงพระที่เป็นเจ้าของกุฏิ พระที่เป็นลูกกุฏิเลยโชคดีรอดตัวไป) ในสมัยนั้นถ้ามีข่าวว่าบ้านไหนมีคนตายละก็พระเณรเป็นต้องเสียวสันหลังเพราะกลัวจะถูกนิมนต์ไปทำบุญกลางดึกแบบนี้ ตกดึกทีแล้วมีคนมาเคาะกุฏิเรียกนิมนต์ทีก็แทบจะลมจับ
แล้วคิดดูกว่าที่จะเดินทางไปนิมนต์ถึงวัดมันก็ดึกโขแล้ว ไหนจะต้องเสียเวลาเดินทางไปบ้านที่ศพตั้งไว้อีกมันก็ยึ่งดึกเข้าไปใหญ่ ยิ่งน่ากลัวเข้าไปอีก
การเล่นผ้าป่าผีตายนั้นเค้าจะทำเป็นซุ้มคล้ายๆเขาวงกตระยะช่องพอให้เดินได้คนเดียว ทำทางคดเคี้ยววกวนพอให้งง ส่วนทางเดินจะเป็นไม้กระดานมาปูๆพอให้เดินได้
ส่วนศพนั้นเขาจะเอานอนราบแล้วมัดไว้กับกระดานแผ่นหนึ่งทำคล้ายๆเป็นกระดานหก ถ้าเดินมาเหยียบกระดานอีกฝั่งศพก็จะเด้งขึ้นมา แล้วเอาผ้าป่าวางไว้ที่แขนศพในท่าพนมมือ ประหนึ่งว่าศพเทำท่ายกผ้าถวาย
พอพระมาถึงก็จะนิมนต์ให้เดินเข้าไปในซุ้มเพียงลำพัง เสียงหรีดหริ่งเรไรผสมเสียงหมาหอนตอนดึกๆนั้นมันช่างบาดหัวใจซะเหลือเกิน ลองจินตนาการบรรยากาศกลางคืนแถวบ้านนอกในสมัยก่อนดูละกัน มีแต่ทุ่งนาโล่งๆ บ้านแต่ละหลังก็ปลูกห่างๆกันไป ไฟฟ้านี่ไม่ต้องพูดถึง พระก็ต้องเดินเข้าไปเรื่อยๆ มืดก็มืดทางออกอยู่ตรงไหนก็สุดจะคาดเดา แต่ก็ต้องเดินไปจนกว่าจะสุดทาง พอไปเหยียบกระดานหกแล้วศพเด้งขึ้นมาต่อหน้าก็คิดเอาเองแล้วกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นศพที่เพิ่งตายก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าเป็นศพที่ตายมาหลายวันนี่ก็เหลือจะรับเพราะสมัยนั้นไม่มีหรอกไอ้ยาอาบศพที่ทำให้ศพอยู่ได้นานๆ อย่างดีก็แค่น้ำมันก๊าดกรอกปากศพกันกลิ่นเน่าแค่นั้น พระที่แก่พรรษาหน่อยก็พอจะครองสติกันได้ แต่ถ้าเป็นพระหนุ่มๆบวชใหม่ๆนี่ก็มีลมจับให้เห็นกันบ่อยๆ
การละเล่นพิเรนทร์แบบนี้ตามบันทึกเก่าๆตามวัดบ้านนอกยังพอมีบันทึกกันอยู่ คาดว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัย ร.4 จนมาเสื่อมความนิยมก็น่าจะสมัย ร.6 เพราะเป็นการละเล่นที่ออกจะเลยเถิดเกินไป พื้นที่ที่มีการบอกเล่าว่าเคยเล่นแบบนี้อยู่ก็จะเป็นจังหวัดในภาคกลาง เช่น อยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม นครนายก และกรุงเทพด้วย
ถอดความจากเรื่องเล่าของครู เหม เวชกร และหนังสือเล่าเรื่องสยาม
กชกร พวยไพบูลย์
ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี