การประชุมระดับสูงว่าด้วยความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือการประชุม Shangri-La Dialogue
ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ เป็นการหารือด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มี 28 ประเทศเข้าร่วมประชุม
และเปิดโอกาสให้ไทยชี้แจงความจำเป็นที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมอำนาจการบริหาร
หลังจากรัฐบาลจาก 39 ประเทศ ที่ออกมาตรการตอบโต้ไทย โดยขอให้กลับเข้าสู่หลักประชาธิปไตย
ผ่านการเลือกตั้งโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา พันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ยาวนานกับไทยมาเกิน 180 ปี
หลังจากระงับเงินช่วยเหลือทางทหารและโครงการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำกองทัพของสองประเทศ
นายชัก เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวในที่ประชุมแชงกรี-ลา ว่า ไทยกำลังถดถอยจากวิถีแห่งประชาธิปไตย
และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยเร็วที่สุด ให้ยุติการควบคุมการแสดงความคิดเห็น และรีบคืนอำนาจ
ให้กับประชาชนผ่านทางการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ด้านรัฐบาลออสเตรเลียประกาศลดการมีปฏิสัมพันธ์กับกองทัพไทยและพิจารณาไม่ให้ผู้นำเหล่าทัพ
เดินทางเข้าประเทศออสเตรเลีย
ส่วนรัฐบาลสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ประกาศทบทวนความสัมพันธ์ทางกองทัพเช่นกัน
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อาศัยเวทีดังกล่าวหารือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ
ที่เข้าร่วมประชุม อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เยอรมนี พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนภายใต้โรดแม็ป
เพื่อให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาเพื่อทบทวนท่าที รวมถึงมาตรการตอบโต้ต่างๆ ที่มีกับไทย
โดยเน้นว่า คสช.มีขั้นตอนนำไปสู่การปรองดอง สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยการปฏิรูป
ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งและกลับสู่ประชาธิปไตยในที่สุด
ขณะเดียวกัน ทางคสช.พยายามแถลงถึงท่าทีด้านบวกของชาติอื่นๆ ในฝั่งเอเชียและอาเซียน
ที่คงยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยรวมถึงเข้าใจสถานการณ์ภายในประเทศของไทย
ไม่ว่า จีน พม่า เวียดนาม มาเลเซีย
โดยเฉพาะข่าวคณะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซียเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ในฐานะแขกของกองทัพไทย วันที่ 3-4 มิ.ย.และเยี่ยมคำนับ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคสช
พร้อมยืนยันว่ามาเลเซียสนับสนุนประเทศไทยรวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
พ.อ.วีรชน สุคนปฏิภาค รองโฆษกกองทัพบกกล่าวว่า ความ ร่วมมือกองทัพไทยและมาเลเซีย
มีทั้งการฝึกร่วมไทย-มาเลเซีย เป็นประจำทุกปี การศึกษามีการแลกเปลี่ยนนักเรียน
ของโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือของสองประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ส่วนกับกองทัพเวียดนามเป็นเรื่องของการศึกษา
ทางเวียดนามส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกกับไทย
ส่วนทริปที่นายสีหศักดิ์เดินทางไปพม่าเพื่อพบกับนายวันนา หม่องลวิน รมว.ต่างประเทศ
และเยือนเวียดนาม เพื่อทำความเข้าใจกับอาเซียน และอธิบายสถานะล่าสุดของไทยนั้น
ทางกระทรวงการต่างประเทศช่วยตีปี๊บว่าได้รับผลตอบรับที่ดี
นายออง ลิน อธิบดีกรมกิจการอาเซียน ของพม่าให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยเป็นรัฐอธิปไตยซึ่งแน่นอนว่า
รัฐบาลพม่าให้การยอมรับคณะรัฐประหารในฐานะรัฐบาลไทย เช่นเดียวกับเวียดนาม
ที่ให้การสนับสนุนการรัฐประหารในประเทศไทย
อีกทั้งกระทรวงต่างประเทศพม่ายังยืนยันต่อนายสีหศักดิ์ว่า เข้าใจสถานการณ์ของไทยดี
และมั่นใจในความสามารถของไทยที่จะสนับสนุนการพัฒนาของอาเซียนต่อไป
ด้านสื่อมวลชนของอินโดนีเซียตั้งข้อสังเกตว่า ในอาเซียน มีวิถีการไม่แทรกแซงระหว่างกัน
ในชาติสมาชิกที่มี พื้นฐานมาจากความกังวลต่อภัยคุกคามของระบอบคอมมิวนิสต์ในอดีต
รัฐบาลอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีท่าทีต่อเหตุการณ์รัฐประหารแตกต่างจากเวียดนามและพม่า
อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าทั้ง 2 ประเทศ
เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้เรื่องการแข่งขันกันของมหาอำนาจ
เนื่องจากไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ และกำลัง ขัดแย้งกันในเรื่องรัฐประหาร
ทำให้จีนมองเห็นช่องทางในการแทรกแซงความสัมพันธ์ในอาเซียน และให้ความช่วยเหลือแก่ไทย
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พม่าและเวียดนามจะสนับสนุนรัฐบาลทหาร เนื่องด้วยรากฐานการปกครอง
ของทั้ง 2 ประเทศมีรูปแบบที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มตัว ดังนั้นการแสดงท่าทีของประเทศ
เพื่อนบ้านอาเซียนจึงหลากหลาย และมีปัจจัยตามรูปแบบการปกครองของประเทศนั้นๆ
สำหรับการประกาศเตือนการเดินทางเยือนไทย กระทรวงการ ต่างประเทศระบุว่า มี 63 ประเทศ
โดยมี 19 ประเทศที่ประกาศให้ หลีกเลี่ยงการเดินทางหากไม่จำเป็น
*ข่าวสด