วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง : ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมนายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง ในการนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เป็นประธานเปิดการประชุมพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน กศน.ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการสังกัด สำนักงาน กศน.เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน
ดร.กนกวรรณฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า “จากนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายภารกิจให้ สำนักงาน กศน. ดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้การใช้ดิจิทัลเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือสำหรับหาช่องทางในการสร้างอาชีพ และจัดทำหลักสูตรพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อมุ่งสร้างโอกาสให้ประชาชนผู้เรียนที่สำเร็จหลักสูตร สามารถมีงานทำ
ซึ่งสำนักงาน กศน.ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าถึงการศึกษา การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 นี้ กศน.ได้ดำเนินการตามภารกิจนี้อย่างต่อเนื่อง และต้องให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้ในทุกมิติ คือ การขับเคลื่อน กศน. สู่ กศน. WOW (6G) คือ
1) Good Teacher การพัฒนาครู กศน. และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการศึกษาและเรียนรู้ โดยจะดำเนินการเกลี่ยเพิ่มอัตราตำแหน่ง การสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง ข้าราชการครู กศน. จำนวน 891 อัตรา เพื่อให้ กศน.อำเภอ มีบุคลากรที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
2) Good Place พัฒนา กศน.ตำบลให้มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับให้ศูนย์การเรียนรู้ ของ กศน. เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย ซึ่งจะเป็นการยกระดับ กศน. ตำบล ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ กศน. ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย มีคุณภาพตอบสนองต่อการเรียนรู้ของประชาชนทุกช่วงวัย
3) Good Activities ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ อาทิ การปรับหลักสูตรการจัดการศึกษาอาชีพ หลักสูตรลูกเสือมัคคุเทศก์ และพัฒนาการจัดการศึกษาออนไลน์
4) Good Partnership การเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยให้มีความร่วมมือจัดทำทำเนียบภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมภูมิปัญญาสู่การจัดการเรียนรู้ชุมชน
5) Good Innovation การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและกลุ่มเป้าหมาย โดยให้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Brand กศน.รวมทั้งการสร้างช่องทางจัดจำหน่ายไปยังสถานีจำหน่ายน้ำมัน และ
6) Good Learning การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัย ซึ่งต้องมีการเตรียมข้อมูลและประสานงานเบื้องต้น
ทั้งนี้การดำเนินการต่างๆจะเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมได้ ผู้บริหาร กศน. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ต้องช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจสำคัญต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ และถ่ายทอดความเข้าใจไปสู่ระดับเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งดูแล และสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน