นายประเสริฐ กาญจนเกียรติกุล ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรี เผยว่าจังหวัดลพบุรีมีพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน 395,000 ไร่ ศักยภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 97 ต้องอาศัยน้ำฝน เกษตรกรนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน มาอย่างยาวนาน ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ศัตรูพืชระบาด ตลอดจนราคาผลผลิตทางการเกษตรไม่แน่นอนทุกปี
ดังนั้น ส.ป.ก.ลพบุรี จึงได้กำหนดแนวทางพัฒนาเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินตามนโยบายของ รมช.เกษตรและสหกรณ์ (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) ในการเพิ่มมูลค่าที่ดินและตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินอยู่ดีมีสุข ด้วย 3 เพิ่ม ได้แก่ เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรโดยเฉพาะถั่วดาวอินคา ซึ่งเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพิ่มมูลค่าการแปรรูปถั่วดาวอินคา และเพิ่มรายได้ โดยทำการตลาดที่เจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ
จากการลงพื้นที่พบว่า นางเต็ง พึมขุนทด เกษตรกร หมู่ที่ 2 ต.กุดตาเพชร อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ได้นำถั่วดาวอินคาซึ่งเป็นพืชทนแล้ง สามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดถั่วดาวอินคาได้ตลอดทั้งปี มาปลูกในที่ดินของตนเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ในระยะเริ่มแรกประสบปัญหาไม่มีตลาดมารับซื้อ ทำให้คิดวิธีที่จะนำถั่วดาวอินคามาแปรรูป โดยการจัดตั้งกลุ่มแปรรูปสมุนไพรถั่วดาวอินคา โดยได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีองค์ความรู้จากกรมการพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยแม้โจ้ จนปัจจุบันสามารถที่จะแปรรูปถั่วดาวอินคาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตลาดมีความต้องการ ได้แก่ ชาใบอินคา น้ำสลัดถั่วดาวอินคา น้ำมันถั่วดาวอินคา ซึ่งมีโอเมก้า 3,6,9 สูง และมีวิตามินเอ วิตามินอี สูง โดยมี น.ส.ศิริพร พึมขุนทด บุตรสาวมาเป็นกำลังหลัก ในการทำตลาดรูปแบบ E-Commerce ,และส่งจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรด ทำให้มีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้น ดังนั้น ส.ป.ก.ลพบุรี ได้ทำการส่งเสริมแนะนำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยว พื้นที่รายละ 0.5-1 ไร่ มาปลูกถั่วดาวอินคาอินทรีย์ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการปลูก 7 เดือน จึงสามารถเก็บผลผลิตได้ และเก็บได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยกลุ่มแปรรูปสมุนไพรดาวอินคา รับซื้อ กก.ละ 30 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง รายละ 4,000 – 5,000 บาท/เดือน หรือปีละ 48,000 – 60,000 บาททีเดียว
นายประเสริฐ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นี่คือตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง การผลิตพืชเชิงเดี่ยวมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ร่วมกับการปลูกถั่วดาวอินคา ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามนโยบายของ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน “ ต้องอยู่ได้ อยู่ดี อยู่อย่างยั่งยืน”
ใจรัก วงศ์ใหญ่
ธนพล อาภรณ์พงษ์
ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ
จังหวัดลพบุรี