วันนี้ 10 ตุลาคม 2562 อบต.ทุ่งนุ้ย ร่วมกับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่นชุมชนและชาวบ้าน ม.7 ต.ทุ่งนุ้ยได้ร่วมกันจัดโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2563 ที่บ้านเกาะใหญ่ ม.7 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตุล โดยมีนายมนต์ชัย มรรคาเขต รองนายกอบต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล เป็นประธานในพิธีเปิด มีผู้นำศาสนา ชาวบ้าน เด็กและเยาวชนมาร่วมงานกว่า 200 คน
โดยอบต.ทุ่งนุ้ย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการทำนาซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน ซึ่งต.ทุ่งนุ้ยมี 12 หมู่บ้านแต่มีเพียง 2 หมู่บ้านคือม.7และม.12 เท่านั้นที่ยังคงยึดถือวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมโดยข้าวที่ปลูกเป็นข้าวพื้นเมืองพันธุ์อัลฮัมดุลิลละห์ ทั้ง 2 หมู่บ้านมีพื้นที่ทำนากว่า 500 ไร่ การลงแขกดำนาเป็นประเพณีที่สืบทดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งการลงแขกทางภาคใต้เรียกว่า “ซอมือ” จะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำนาแลกเปลี่ยนแรงงานช่วยเหลือในการผลิต จากนั้นก็จะมานั่งกินข้าวร่วมกันบริเวณคันนาหรือบิ้งนา ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในหมู่บ้านที่อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกัน กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาชนเกิดความตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสานภูมิปัญญา ให้เยาวชนได้เรียนรู้ความสำคัญ วิถีชีวิตของท้องถิ่นสร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง ไฮไลท์ของงานในครั้งนี้คือการแข่งขัน ถอนกล้า ดำนาและจับปลาไหล ซึ่งแข่งถอนกล้าและดำนาเป็นผู้แข่งขันชุดเดียวกัน เพื่อให้ได้พักเหนื่อยจึงนำการแข่งจับปลาไหล มาคั่นระหว่างกลาง ซึ่งการแข่งขันถอนกล้า ลงแข่งขัน 10 คู่ 20 คน เมื่อจนท.ส่งสัญญานต่างคนต่างก้มหน้าถอนต้นกล้าข้าวจากนั้นก็ฟาดลงบนหน้าแข้งของตนเอง โดยแข่งกันอย่างสนุกสนานเมื่อฟาดต้นข้าวลงบนหน้าแข้งแต่ละครั้งกระฉูดไปถึงกรรมการที่ยืนดูที่ริมคันนา ใช้เวลา10 นาทีกว่าจะหมดเวลาเล่นเอาโคลนเลอะเทอะทั้งกรรมการและผู้เข้าแข่งขันได้รางวัลที่1-3 คือ400,300และ200 ตามลำดับ ถัดมาแข่งจับปลาไหล เปิดให้ทุกเพศวัยลงไปจับรางวัลคือปลาไหลที่จับได้พร้อมเงินสดอันดับ1-3 คือ300,200และ100 บาทตามลำดับ เรียกว่าเมื่อสัญญานมาแต่ละคนก็ลงไปจับกันอย่างสนุกสนาน ทำเอาปลาไหลแต่ละตัวที่ถูกรุมทิ้งไม่ตายก็สลบ และการแข่งขันสุดท้ายคือแข่งดำนาชิงเงินรางวัล 700,500 และ300 บาทแบ่งเป็นคู่ คู่ไหนก้นมาชนกันก่อนถือเป็นคู่ที่ชนะ เรียกว่างานนี้ต่างคนต่างก้มลงปักกันแบบไม่เงยหน้ามองใครกันเลยทีเดียว ส่วนกองเชียร์ที่อยู่ตามคันนาก็เชียร์กันอย่างสนุกสนาน บางคนอุ้มลูกจูงหลานกางร่มเชียร์กันเลยทีเดียว ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวสร้างความสามัคคี ลูกหลานได้เห็นการลงแขกทำนาซึ่งปัจจุบันนี้แทบไม่มีให้เห็นกันแล้ว
นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล