ตร.ลุยล้างแอพฯ โชว์วีเจ. หลังพบมีอีกอื้อ แถมมีห้อง 18+ ผู้เข้าชมต้องเสียค่าบริการเป็นบัตรเติมเงิน แล้วสามารถเอาไปแลกของขวัญให้วีเจ.ได้ เร่งเก็บข้อมูลว่าเข้าข่ายหลอกลวง หรือผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ ส่วนเรื่องแอพฯ ไอโชว์ บก.ปอท.เร่งตรวจสอบว่าเข้าข่ายลามกอนาจาร หรือหลอกลวง หรือไม่ ด้านบริษัทเปิดแถลงพร้อมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ยันทำธุรกิจถูกต้อง ไม่มีโป๊เปลือยแน่นอน ส่วนผู้เสียหายขอให้เข้ามาพูดคุย ยันเงินเข้ามาในระบบแอพฯ ไม่ถึง 1.2 ล้าน ตามที่เป็นข่าว
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนางศิริการต์ ศิรสิทธิ์ดำรงกิจ แจ้งความจับลูกชายนายระพีพัชร ศิรสิทธิ์ดำรงกิจ หลังมีการโอนเงินให้วีเจ.โฟว์ ของแอพ พลิเคชั่น ไอโชว์ กว่า 1.2 ล้านบาท ว่า ล่าสุด ผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม (ปอท.) โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และเชิญบริษัทที่ก่อตั้งแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมาให้ข้อมูล อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดกับบริษัท คงต้องดูรายละเอียดว่าจริงๆ แล้ว ในแอพพลิเคชั่นนี้ที่มีลูกเล่นไม่เหมือนกับแอพพลิเคชั่นอื่นทั่วไป โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการกระทำ ความผิดที่อาศัยเทคโนโลยีในลักษณะนี้ สำหรับผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อโดยที่รู้เท่าถึงการณ์
ผู้สื่อข่าวถามว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีมาตรการเข้มงวดแอพโชว์ต่างๆ อย่างไร พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการเฝ้าระวังและเข้มงวดอยู่แล้ว พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ถึงพิษภัยเทคโนโลยีที่มีลักษณะโชว์วาบหวิวต่างๆ
พ.ต.อ.สยาม บุญสม รอง ผบก.ปอท. เผยว่า ขณะนี้สั่งให้เจ้าหน้าที่ บก.ปอท. เข้าไปตรวจสอบวิธีการสมัคร วิธีการเล่น และระบบทั้งหมดของแอพพลิเคชั่น “ไอโชว์” ว่าเข้าข่ายการกระทำผิดข้อไหน รวมทั้งตรวจสอบว่า มีการให้วีเจ.สาว เปลื้องผ้า หรือใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น จะเข้าข่ายการกระทำความผิด ข้อหานำเข้าสิ่งลามกอนาจาร เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ ส่วนการซื้อของขวัญ หรือของรางวัลเพื่อเป็นของกำนัลแก่วีเจ.สาวนั้น ต้องดูว่าเป็นการให้ด้วยการสมัครใจหรือถูกหลอกให้ซื้อ และขอเวลาในการตรวจสอบสักระยะ ทั้งนี้ทางบก.ปอท.ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะไอโชว์นั้น แต่ตรวจสอบแอพลิเคชั่น หรือโปรแกรมอื่นๆ ด้วย หากพบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพ์
ที่สำนักงานไอโชว์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์จำกัด เลขที่ 446/73 ชั้น 2 ห้องเลขที่ 2 เอ อาคารปาร์คอเวนิว2 ถ.สุขุมวิท 71 แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กทม. นายทักษิณ จันทรารักษ์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลและกฎหมาย พร้อมด้วยวีเจ.โฟร์, นายสุรศักดิ์ มุสิชาติ โปรเจ็กต์เมเนเจอร์, น.ส.อัญชลี คำดี โซเชี่ยล มีเดีย ดีพาร์ตเมนต์ และนายวชิระ อู่อรุณ โปรดักส์ เมเนเจอร์ แถลงชี้แจงการทำงานของแอพพลิเคชั่นไอโชว์ (iShow)
นายทักษิณกล่าวว่า ไอโชว์ทำงานคือเป็นเหมือนพื้นที่ที่ให้คนมีความสามารถเข้ามาแสดงออกกัน มีทั้งสายวีเจ.ทอล์ก วีเจ.สายแดนซ์ วีเจ.สายร้องเพลง วีเจ.สายเล่าเรื่อง วีเจ.สายเซ็กซี่ และอีกหลายแบบ แต่ไม่มีการแสดงออกในการลักษณะโป๊ เปลือย อย่างแน่นอน ส่วนที่ปอท. จะตรวจสอบเนื่องจากเกรงมีการฉ้อโกง บริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย ส่วนเงินที่นายระพีพัชรระบุว่า นำไปซื้อไอเทมของแอพฯ มูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท นั้นคงไม่ถึง ต้องตรวจสอบก่อน รวมทั้งเรื่องจะคืนเงินหรือไม่ ต้องพูดคุยกันก่อนเช่นกัน แต่ล่าสุดยังไม่มีการติดต่อจากคู่กรณีเลย
นายทักษิณกล่าวว่า สำหรับการทำงาน การคัดวีเจ. จะรับสมัครผ่านทางอินเตอร์เน็ต จากนั้นจะส่งไปประจำสังกัดวีเจ.ต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 30 สังกัด มีวีเจ.กว่า 1,000 คน และแต่ละสังกัดจะมีกฎระเบียบในแต่ละสังกัดด้วย เช่นห้ามคุยแบบส่วนตัวกับผู้ที่เข้ามาชมขณะออกอากาศ ถ้าพบผิดกฎจะยุติการออกอากาศทันที ส่วนใหญ่ทำงานลักษณะฟรีแลนซ์ และจ่ายค่าจ้างจากส่วนแบ่งที่ผู้ชมซื้อไอเทมเข้ามาให้กำลังใจ
ส่วนกรณีของวีเจ.โฟร์นั้นเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ในเรื่องงานนั้น วีเจ.โฟร์ทำงานเป็นหัวหน้าสังกัดหนึ่งในบริษัท ตั้งแต่ทำงานไม่เคยทำผิดกฎระเบียบ ขยัน ทำงานสุจริตเหมือนคนทั่วไป ขณะนี้ทางบริษัทยังไม่ได้มีการพักงานแต่อย่างใด ส่วนเรื่องนั้นทางบริษัทจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่จะเรียกมาพูดคุยกันอีกที เพราะเรื่องดังกล่าวก็ส่งผลกับบริษัทด้วย
นายสุรศักดิ์กล่าวว่า การทำงานของโปรแกรมไอโชว์ก็เหมือนกับการซื้อบัตรเข้าชมคอนเสิร์ต เมื่อสมาชิกเข้ามาชม เมื่อถูกใจหรืออยากให้กำลังใจวีเจ.ก็สามารถซื้อไอเทมส่งให้วีเจ.ได้ ซึ่งแต่ละไอเทมจะมีจำนวนเงินระบุบอกหน่วยเป็นตัวซี เช่น 100 ซี เท่ากับ 1 บาท ทุกครั้งที่ผู้ชมจะส่งไอเทมให้วีเจ.นั้นโปรแกรมจะขึ้นเตือนว่ากำลังจะส่งไอเทมให้วีเจ.เพื่อให้ผู้เข้าชมยืนยันการส่งอีกครั้งป้องกันการกดผิด ซึ่งสมาชิกที่สมัครเข้ามานั้นมีทั้งสมาชิกที่เสียเงินและสมาชิกที่ชมฟรี โดยทั้ง 2 อย่างจะมีสิทธิ์ในการเข้าชมวีเจ.ได้ทุกห้องเหมือนกัน แต่สมาชิกที่เสียเงินจะแบ่งออกเป็นหลายระดับ เป็นการแบ่งเกรดผู้เข้าชม ซึ่งในแอพฯ จะขึ้นโชว์สัญลักษณ์ว่าอยู่ในระดับไหน ขึ้นอยู่กับเงินที่สะสมอยู่ในระบบ เปรียบเสมือนการแต่งตัวให้ตัวเองดูเท่ขึ้น สมาชิกแต่ละระดับนั้นจะมีความพิเศษคือสามารถคุยส่วนตัวกับวีเจ.ได้ สามารถซ่อนตัวไม่ให้ใครเห็นได้ สามารถส่งไอเทมในหมวดวีไอพีได้ ทั้งนี้การสมัครสมาชิกนั้นคนหนึ่งสามารถมีได้หลายแอ็กเคาต์ได้
ด้านวีเจ.โฟร์ชี้แจงว่า รู้จักนายระพีพัชร ตั้งแต่เม.ย. 2558 พูดคุยกันเมื่อมี.ค.59 เขาเป็นคนที่เข้ามาเล่นแอพฯ ไอโชว์ จากนั้นก็พบว่ามักจะส่งของขวัญให้วีเจ.หลายๆ คน จนกระทั่งได้คุยกับเขาเป็นพิเศษ ก็ส่งของขวัญมาให้มากขึ้น จนคบหากันไปมาหาสู่กันที่บ้านฝ่ายชาย ส่วนเรื่องเงิน 1.2 ล้านบาทนั้น ยืนยันว่าตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2559 นายระพีพัชร โอนเงินผ่านบัญชีตนเพื่อเติมเงินซื้อของขวัญให้กับวีเจ. รวมแล้วทั้งหมด 481,870 บาท รวมถึงเงิน 99,880 บาท ที่นายระพีพัชรโอนมาช่วยค่าดาวน์รถ ซึ่งหลังเกิดเหตุก็โอนคืนให้แม่นายระพีพัชรไปแล้ว เงินที่เหลือโอนเข้าบริษัท 261,500 บาท เหลือที่เป็นค่าใช้จ่ายระหว่างคุยกัน 100,490 บาท ซึ่งไม่เคยเรียกร้อง แต่คิดว่าเป็นเงินที่นายระพีพัชร ทำงานเลี้ยงดูครอบครัวแล้วโอนให้โดยเสน่หา จึงขอยืนยันว่าเงินทั้งหมดมีเท่านี้ไม่ถึง 1.2 ล้านบาท
วีเจ.โฟร์กล่าวว่า สำหรับความสัมพันธ์ ตอนนี้ไม่ได้คุยกันแล้ว แต่ยอมรับว่ายังคงเป็นห่วง เพราะฝ่ายชายถูกทัณฑ์บนห้ามติดต่อตน ไม่งั้นอาจถูกจับตามที่แม่ของเขาขู่ไว้ ทั้งนี้ที่ไม่ได้คุยกันไม่ใช่เพราะเขาหมดเงินแล้วตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบนอกจากแอพฯ ไอโชว์ (iShow) แล้วยังมีแอพพลิเคชั่นในลักษณะดังกล่าวเพิ่มเติมอีกสองค่าย โดยเป็นค่ายชื่อดังหนึ่งค่าย และอีกหนึ่งค่ายที่ให้เปิดบริการใหม่ โดยมีลักษณะการใช้งานได้ในหลายรูปแบบทั้งจากคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต ผู้ใช้บริการสามารถเลือกชมได้ทั้งการเต้น ร้องเพลง หรือการแสดงความสามารถต่างๆ ของเหล่าวีเจ. และเน็ตไอดอลแบบสดๆ ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการโชว์ในลักษณะของการเต้นวาบหวิวในห้องเฉพาะที่ระบุว่า เป็นห้องสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการสามารถเข้าชมได้ทั้งแบบฟรี และแบบเสียค่าบริการ โดยการเสียค่าบริการนั้นจะเป็นในรูปแบบของการเติมเงินผ่านบัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือจากนั้นผู้ใช้บริการจะนำไปใช้แลกเป็นของขวัญที่มีอยู่ในโปรแกรมดังกล่าวที่มูลค่าต่ำสุดอยู่ที่ 2 บาท ไปจนถึงมูลค่าสูงสุดที่ 9,000 บาท เมื่อผู้ใช้บริการพอใจในรูปแบบการแสดงของเน็ตไอดอลก็จะส่งของขวัญผ่านโปรแกรมไปให้ ต่อจากนั้นเน็ตไอดอลจะนำไปแลกเป็นตัวเงินอีกครั้งต่อไป ทั้งนี้ เน็ตไอดอลที่เป็นที่นิยมสามารถสร้างได้ถึงหลักแสนบาทต่อเดือน ซึ่งอยู่ระหว่างตร.กำลังรวบรวมข้อมูลดูว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่