สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียนนา และ City of Vienna จัดงานนิทรรศการ “Bangkok – Vienna Innovation District Exhibition” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-17 ตุลาคม 2562 ณ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐออสเตรีย ครบรอบ 150 ปี ตั้งเป้าขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐออสเตรีย พร้อมสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อต่อยอดความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่าง NIA สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียนนา และ City of Vienna
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียนนา และ City of Vienna มีความร่วมมือในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายด้านองค์ความรู้ในการพัฒนาย่านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา NIA ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญของ City of Vienna ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ และเป็นวิทยากรในหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม”
NIA ได้ริเริ่มและพัฒนาย่านนวัตกรรมเพื่อสร้างให้เกิดนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ โดยเริ่มจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีความพร้อมในการสร้างสรรค์การพัฒนาทางนวัตกรรม จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของทวีปเอเชีย ในการนี้ NIA จึงได้นำแนวคิดในการเชื่อมโยงย่านนวัตกรรมในกรุงเทพมหานครทั้ง 7 ย่าน ได้แก่ ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ ย่านนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพโยธี ย่านนวัตกรรมปทุมวัน ย่านนวัตกรรมคลองสาน ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท ย่านไซเบอร์เทคกรุงเทพ ย่านนวัตกรรมลาดกระบัง เป็นต้น
เพื่อวางแผนให้เกิดเป็นระเบียงนวัตกรรมกรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok innovation Corridor โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการสร้างเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ของเมือง ซึ่งเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอยู่เสมอ การใช้ประโยชน์พื้นที่แบบ Mix-use ที่พร้อมให้เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างในการแลกเปลี่ยนไอเดีย และมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่การสร้างธุรกิจที่ขับคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี การเชื่อมโยงรอยต่อระหว่างย่านนวัตกรรม จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงของกลุ่ม Sector และเสริมจุดเด่นของแต่ละย่านให้สมบูรณ์เพื่อดึงดูดเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของทั้ง 7 ย่านนวัตกรรมเพื่อสร้างการเข้าถึงข้อมูลพื้นที่ และง่ายต่อการตัดสินใจในการลงทุน โดยข้อมูลต้องแสดงข้อมูลที่ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน อันประกอบไปด้วย สินทรัพย์ทางกายภาพ อันแสดงข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งอาคาร ประเภทอาคาร และการเดินทาง สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ แสดงข้อมูลกลุ่ม Sector และธุรกิจ Startup ในพื้นที่ สินทรัพย์ทางเครือข่าย แสดงหน่วยงานสนับสนุนทั้งเงินทุน และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่ง Platform ดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการจดจำลักษณะเด่นและสร้างความเข้าใจถึงลักษณะเด่นของพื้นที่ได้อย่างชัดเจน เชิญชมตัวอย่าง Platform ได้จากย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท”
สำหรับงานแสดงนิทรรศการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐออสเตรียนี้ ประกอบด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐออสเตรียในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเมืองเวียนนา และแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของกรุงเทพมหานคร กิจกรรมเปิดตัวหนังสือย่านนวัตกรรมกรุงเทพมหานคร (Bangkok Innovation Districts)
ซึ่งรวบรวมแนวคิด โอกาส และภาพการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของการพัฒนาย่านนวัตกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 6 ย่าน ได้แก่ ย่านนวัตกรรมโยธี ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ ย่านนวัตกรรมปทุมวัน ย่านนวัตกรรมคลองสาน ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท และย่านนวัตกรรมลาดกระบัง และหนังสือนวัตนคร (City of Innovation) ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมภาพถ่ายภายใต้หัวข้อ One Shot Knockout: Innovation District
จากช่างภาพทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพร่วมลงถ่ายภาพในพื้นที่เป้าหมายย่านนวัตกรรม 7 แห่ง ได้แก่ ย่านการแพทย์โยธี ย่านปทุมวัน เกาะรัตนโกสินทร์ เมืองพัทยา ย่านหลักในจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการนำเสนอแนวคิด รูปแบบนวัตกรรมและอัตลักษณ์ที่พบเห็นในย่านต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการพาเยี่ยมชมนิทรรศการภายในของนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับวิวัฒนาการวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน