สอดรับมาตรฐาน SRP-The Sustainable Rice Platform ภายในงานประชุมและนิทรรศการข้าวเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 2 (2nd Global Sustainable Rice Conference and Exhibition 2019)
ข้าว ซี.พี.-ข้าวตราฉัตร ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment-UNEP) และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ดึงจุดแข็งระบบการปลูกข้าวยั่งยืนของบริษัทฯ ภายใต้โครงการส่งเสริมการปลูกข้าว ที่ทำร่วมกับภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคประชาชน มากว่า 10 ปี ทั่วประเทศ ทำให้ตอนนี้ มีพื้นที่เข้าร่วมในโครงการฯ กว่า 301,325 ไร่ และมีเกษตรกรสมาชิก รวมทั้งสิ้น 12,178 ราย
ข้าวตราฉัตรจึงได้จับมือร่วมกับ 2 ภาคีเครือข่ายใหญ่ ร่วมกันผลักดันข้าวคุณภาพระดับโลก เพื่อสอดรับมาตรฐาน SRP-The Sustainable Rice Platform คือการขับเคลื่อนการเกษตรยั่งยืน (Driving To Sustainable Rice System) ด้วยการบริหารจัดการระบบการผลิตข้าว โดยคำนึงถึงระบบนิเวศ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมในไร่นา ผสมผสานการตลาด จนพัฒนานำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ของเกษตรกรสมาชิก ซึ่งข้าวตราฉัตรถือเป็นแบรนด์ข้าวคนไทยแบรนด์เดียว ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการ SRP-The Sustainable Rice Platform
นายสุรชัย ชัยชนะสิทธิการ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด (ข้าวตราฉัตร) กล่าวว่า ข้าวตราฉัตร มุ่งมั่น ให้ความสำคัญเรื่องพัฒนาคุณภาพข้าวไทย ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกรไทยมาโดยตลอด เพื่อทำให้เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการระบบการผลิตข้าวไทยที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ได้วัตถุดิบข้าวที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นตามมา และบริษัทฯ
จะเป็นแหล่งตลาดให้กับเกษตรกรสมาชิก รับซื้อข้าวเปลือกคืนจากเกษตรกรสมาชิก ทำให้มั่นใจได้ว่าข้าวที่ปลูกมา จะมีตลาดรองรับที่แน่นอน ผ่านในรูปแบบของโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวของบริษัทฯ ซึ่งดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร อาทิ ภาครัฐ ภาคเกษตรกรสมาชิก และภาคประชาชน ร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน GAP มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีกับความสำเร็จของโครงการฯ รวมพื้นที่กว่า 301,325 ไร่ ทั่วประเทศ และมีเกษตรกรสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 12,178 ราย
รูปแบบระบบการเกษตรแบบยั่งยืน (Sustainable Agriculture) คือการทำการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม ความสมดุลของสภาพธรรมชาติ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ หนึ่ง เกษตรผสมผสาน (Integrated Farming) เป็นการผลิตที่มากกว่าสองกิจกรรมขึ้นไป
ในเวลาเดียวกัน กิจกรรมทั้งสองนี้จะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น จากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินที่มีจำกัดในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอง เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) เป็นการผลิตที่ไม่ใช้สารอนินทรีย์เคมี หรือเคมีสังเคราะห์ แต่สามารถใช้อินทรีย์เคมีได้ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ทรัพยากรดิน สร้างความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ให้แก่ผู้บริโภค
สาม เกษตรธรรมชาติ (Natural Farming) เป็นการทำเกษตรที่ไม่รบกวนธรรมชาติ หรือรบกวนให้น้อยที่สุด ไม่ไถพรวน ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และไม่กำจัดวัชพืช แต่สามารถคลุมดิน และใช้ปุ๋ยพืชสดได้ จะช่วยฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศ (Rehabiltation Of Ecological Balance) และลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก สี่ เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture) เป็นการจัดการทรัพยากรน้ำในไร่นาให้เพียงพอ เพื่อผลิตพืชอาหาร
โดยเฉพาะข้าวเอาไว้บริโภคในครัวเรือน รวมถึงการผลิตอื่นๆ เพื่อบริโภค และจำหน่ายส่วนที่เหลือแก่ตลาด เพื่อสร้างรายได้อย่างพอเพียง จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงระดับครัวเรือน และ ห้า วนเกษตร (Agroforesty) เป็นการเน้นมีต้นไม้ใหญ่ และพืชเศรษฐกิจหลายระดับที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ป่าไม้ของพืชหรือสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เกื้อกูลกัน อีกทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ที่มีจำกัดได้อีกทาง จะช่วยให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) อีกด้วย
ซึ่งระบบการเกษตรแบบยั่งยืนของบริษัทฯ ได้มีการยึดหลักตามแนวทางมาตรฐาน SRP มาประยุกต์ใช้แบบผสมผสานทุกรูปแบบ มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการผลิตข้าว ที่คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ส่งเสริมเพาะปลูก มีมาตรการช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรในไร่นาและสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยระบบการผลิตที่เหมาะสม (Appropriate Production System) นอกจากนี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสมาชิกและคนในชุมชนที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นสิ่งที่เราตระหนักและให้ความสำคัญมาตลอด
การขับเคลื่อนการเกษตรยั่งยืนของข้าวตราฉัตร (Diving To Sustainable Rice System) ถือเป็นภารกิจหลักอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพข้าวไทย เพราะระบบการเกษตรแบบยั่งยืน จะสมบูรณ์ได้ ต้องทำให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้ นำไปปฏิบัติได้จริง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทรัพยากรในไร่นาและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน