วันนี้ วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2562 เวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ : พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชั ยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกประชุมหน่วยเกี่ยวข้องผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพประกอบด้วย ตำรวจภูธรภาค 3,ภาค 4,ตำรวจภูธรจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด,กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2,โรงพยาบาลตำรวจ,กองบินตำรวจ และหน่วยสนับสนุนจากส่วนกลางทุกหน่วย เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยจากสถานการณ์ขณะนี้ มีพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 5 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดยโสธร,จังหวัดศรีสะเกษ,จังหวัดอำนาจเจริญ, จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดร้อยเอ็ด
พล.ต.ท.ปิยะฯ กล่าวว่า “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบอุทกภัยและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์เชิญถุงพระราชทาน มอบให้แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางปฏิบัติของข้าราชการตำรวจทุกหน่วย
ทั้งนี้ ยังได้กำชับสั่งการไปยังข้าราชการตำรวจหน่วยต่างๆ โดยให้ร่วมปฏิบัติโดยใกล้ชิดกับ คณะทำงานติดตามสถานการณ์ของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด เพื่อวิเคราะห์และติดตามประเมินแนวโน้มสถานการณ์ในพื้นที่ โดยเมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นให้ร่วมกับหน่วยเกี่ยวข้อง
ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนในทุกช่องทาง เพื่อให้สามารถลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้อง และทั้งนี้เมื่อมีการอพยพของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้าไปจัดระบบในพื้นที่อพยพ พื้นที่ปลอดภัยในการรองรับประชาชน รวมทั้งดูแลเส้นทางหลัก เส้นทางรองต่างๆ ในการเดินทาง
ประการสำคัญคือ ต้องจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ เฝ้าระวังพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่างๆ ตลอดจนบ้านเรือนประชาชนที่ได้อพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และเร่งดำเนินการช่วยเหลือด้านการดำรงชีพและการบรรเทาทุกข์เบื้องต้นแก่ประชาชนผู้ประสบภัย พร้อมทั้งประสานความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยต่างๆ
นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนข้าราชการตำรวจและประชาชนจิตอาสา เข้ามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตามทักษะและความถนัด
พล.ต.ท. ปิยะฯ กล่าวอีกว่า “มิจฉาชีพที่จะอาศัยจังหวะเกิดอุทกภัย น้ำท่วม เข้าไปทำการลักทรัพย์ตามบ้านเรือนผู้ประสบภัย กรณีนี้จะต้องได้รับโทษหนักขึ้น เพราะถือเป็นการซ้ำเติมผู้ที่เดือดร้อน” โดยมีโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท แต่หากกระทำความผิดอันมีลักษณะอื่นเพิ่มเติม ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท
ทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนต้องการขอความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 191 และ 1599 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สถานีตำรวจใกล้บ้านทุกแห่ง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน