ประเดิมปฏิรูป 514 สถานีตำรวจทั่วประเทศให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี “พงศพัศ” เปิดแผนงาน ตั้งแต่บช.น. บช.ภาค 1-9 และ ศชต. จัดเป็นชุดพนักงานสอบสวนแบบบูรณาการ มีหัวหน้าทีม 1 นาย พนักงานสอบสวน 2 นาย ฝ่ายสืบสวน 2 นาย ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน 2 นาย ฝ่ายพิสูจน์หลักฐาน นิติวิทยาศาสตร์ เสมียนคดี วัสดุอุปกรณ์ และยานพาหนะ เน้นย้ำคดีต้องถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม เท่าเทียม โปร่งใสทุกขั้นตอน ส่วนอีก 982 สถานีจะปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน ในกรอบเวลา 5 ปี
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนและประสานงานการปฏิรูปองค์กรตำรวจ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปฏิรูปองค์กรตำรวจใน 10 ด้าน ว่าทั้งหมดเริ่มดำเนินการไปพร้อมๆ กันแล้ว เปรียบเสมือนขบวนรถไฟ 10 โบกี้ ที่เริ่มต้นเดินทางออกจากสถานีแล้ว โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นผู้นำรถไฟขบวนปฏิรูปนี้ไปให้ถึงปลายทาง มีทั้งสถานีเร่งด่วน 1 ปี สถานีกลางทาง 5 ปี และสถานีสุดท้ายเมื่อครบ 20 ปี
“ข้าราชการตำรวจทุกนาย และในทุกระดับที่อยู่ร่วมขบวนการปฏิรูปนี้ ต้องร่วมกันดำเนินการอย่างเต็มที่ หากผู้ใดไม่ใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปในการทำหน้าที่ของตนเอง หรือการปฏิรูปกระบวนการในการทำงานให้ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผบ.ตร.ถือว่าเป็นผู้ที่ขัดขวางการดำเนินการในการปฏิรูปครั้งนี้ จะต้องถูกพิจารณาดำเนินการต่อไป” รอง ผบ.ตร.กล่าว
พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวต่อว่า สำหรับการปฏิรูปที่มีความสำคัญ เป็นที่จับตาของสังคมและประชาชนทั่วไป และเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องให้เห็นเป็นรูปธรรม คือเรื่องการปฏิรูปงานสอบสวน และการบังคับใช้กฎหมาย ในการดำเนินการระยะเร่งด่วนและจะต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี คือการปฏิรูปงานสอบสวนของสถานีตำรวจที่มีจำนวนคดีรับแจ้งเป็นจำนวนมาก แต่มีพนักงานสอบสวนไม่เพียงพอต่อการทำหน้าที่ มีผลทำให้เกิดความล่าช้าและบกพร่องต่อสำนวนการสอบสวน ขาดการเอาใจใส่ดูแลจากผู้บังคับบัญชา รวมทั้งขาดทีมงานด้านการสืบสวน การพิสูจน์หลักฐาน และงานนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นงานสำคัญต่อการอำนวยความยุติธรรมในเบื้องต้น และจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป ตั้งแต่การรับแจ้งความ
รอง ผบ.ตร.กล่าวว่าสถานีตำรวจที่จำเป็นจะต้องปฏิรูประบบการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในระยะเร่งด่วน 1 ปี มีทั้งสิ้น 514 แห่ง เป็นสถานีตำรวจในสังกัด บช.น. 30 แห่ง, บช.ภาค 1 จำนวน 54 แห่ง, บช.ภาค 2 จำนวน 65 แห่ง, บช.ภาค 3 จำนวน 60 แห่ง, บช.ภาค 4 จำนวน 77 แห่ง, บช.ภาค 5 จำนวน 37 แห่ง, บช.ภาค 6 จำนวน 32 แห่ง, บช.ภาค 7 จำนวน 32 แห่ง, บช.ภาค 8 จำนวน 60 แห่ง, บช.ภาค 9 จำนวน 39 แห่ง และ ศชต. 28 แห่ง โดยทั้งหมดจะต้องจัดชุดพนักงานสอบสวนแบบบูรณาการ และพื้นที่รับแจ้งความแบบเสร็จสิ้น ณ จุดเดียว เพื่อคอยให้บริการแก่ประชาชน และรับผิดชอบทำสำนวนการสอบสวนด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม เกิดความเท่าเทียม และสร้างความไว้วางใจให้กับคู่กรณีในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส
หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ปฏิรูปองค์กรตำรวจ กล่าวอีกว่าชุดพนักงานสอบสวนแบบบูรณาการ จะต้องมีพนักงานสอบสวนหัวหน้าทีม 1 นาย พนักงานสอบสวนประจำทีม 2 นาย ฝ่ายสืบสวน 2 นาย ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน 2 นาย รวมทั้งทีมสนับสนุนที่เป็นเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน นิติวิทยาศาสตร์ เสมียนคดี วัสดุอุปกรณ์ และยานพาหนะ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้กระบวนการรับแจ้งความ การสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และการมีความเห็นทางคดีเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง
พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวอีกว่าส่วนสถานีตำรวจที่เหลืออีก 982 แห่ง จะปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน แต่กำหนดกรอบระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 5 ปี โดยในระหว่างที่ปฏิรูปการจัดชุดพนักงานสอบสวนแบบบูรณาการนั้น จะปฏิรูปและพัฒนาตัวพนักงานสอบสวนไปพร้อมๆ กัน โดยจะฝึกอบรมเน้นไปในเรื่องขององค์ความรู้ทางด้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตนตามแนวทางที่ถูกต้องต่อการเป็นพนักงานสอบสวนที่ดีมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของพนักงานสอบสวนอย่างครบถ้วนต่อไป