ตุรกีขยายขอบเขตการล้างบางผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับการรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยล่าสุดมีผู้ที่ถูกจับกุม, ถูกปลด หรือถูกไล่ออกเพราะเหตุผลดังกล่าวแล้วกว่า 50,000 คน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลของประเทศตุรกีดำเนินการจับกุม, ไล่ออก หรือพักงาน ผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนมากกว่า 50,000 คน แล้ว โดยการกวาดล้างขยายไปยังหน่วยงานการศึกษาทั้งครู และคณบดีมหาวิทยาลัย และสื่อ
ตามการเปิดเผยของสื่อตุรกี รัฐบาลได้ดำเนินการจับกุมเจ้าหน้าที่กองทัพไปแล้วกว่า 6,000 นาย และปลดตำรวจอีกเกือบ 9,000 นาย มีผู้พิพากษาถูกพักงานอีกกว่า 3,000 คน ขณะที่พนักงานของกระทรวงมหาดไทยถูกปลด 8,777 คน กระทรวงการคลังถูกไล่ออก 1,500 คน ผู้ที่ทำงานในสำนักงานนายกรัฐมนตรีถูกไล่ออกอีก 257 คน ครูและเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาอีก 15,200 คนถูกพักงาน คณบดีมหาวิทยาลัย 1,577 คนถูกสั่งให้ลาออก
เมื่อวันอังคาร หน่วยงานตรวจสอบสื่อของตุรกียังออกคำสั่งยกเลิกใบอนุญาตประกอบการของสถานีวิทยุ ’24 เรดิโอ’ และช่องโทรทัศน์ต่างๆ อีกหลายเจ้า
รัฐบาลตุรกีระบุว่า ผู้ที่ถูกจับกุมเป็นพวกของอิหม่าม เฟตุลเลาะห์ กูเลน อดีตมิตรซึ่งกลายเป็นศัตรูของประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน และถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารดังกล่าว ขณะที่นายบินาลี ยิลดิริม นายกรัฐมนตรีตุรกี กล่าวหานายกูเลนว่าเป็นผู้นำองค์กรก่อการร้าย และจะขุดรากถอนโคนพวกเขาให้สิ้น
นอกจากนี้ ตุรกียังกดดันสหรัฐฯ ให้ส่งตัวนายกูเลนกลับประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน โดยนายเอร์โดอันพูดถึงเรื่องนี้ระหว่างการคุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร ขณะที่ อิบราฮิม คาลิน โฆษกรัฐบาลตุรกีแสดงความเห็นว่า สหรัฐฯ ควรสามารถส่งตัวนายกูเลนกลับมาได้แม้เป็นเพียงผู้ต้องสงสัย แทนที่จะต้องรอข้อเท็จจริงว่าเขาเกี่ยวข้องกับการก่อรัฐประหาร
อย่างไรก็ตาม นายจอช เอร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาวออกมากล่าวแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า การตัดสินใจจะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ควรเกิดขึ้นภายใต้สนธิสัญญาระหว่างทั้งสองประเทศ ด้านนายกูเลนกล่าวว่า คำอ้างของรัฐบาลตุรกีที่ว่าเขาอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหาร เป็นเรื่องไร้สาระ และเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธความพยายามใดๆ ที่จะละเมิดกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนด้วยความพยาบาททางการเมือง