วันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงนายนิพิฐฏ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุกกต.มีความล่าช้าในการจัดกิจกรรมให้ถกเถียงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญว่า การจัดกิจกรรม ของกกต.มีตลอด แต่การจัดกิจกรรมเสริมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนออกเสียงประชามติใน วันที่ 7 ส.ค. เพื่อให้ประชาชนรับรู้กว้างขวางมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ การที่สื่อมวลชนพาดหัวข่าวว่ากกต.เพิ่งตื่นจัดกิจกรรมนั้นจึงเป็นการสื่อสารที่มีสีสันแต่ไม่สร้างสรรค์ เพราะกกต.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ ทั้งจัดรายการทีวี 13 ครั้งใน 6 ช่องหลักกับทีวีดิจิตอล 20 ช่อง การรณรงค์ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือการแจกจ่ายเอกสาร
นายสมชัยกล่าวว่า ส่วนการแจกจุลสารร่างรัฐธรรมนูญฉบับย่อให้กับประชาชน 17 ล้านครัวเรือนภายในวันที่ 18-22 ก.ค. หากใครไม่ได้รับสามารถแจ้งมาที่กกต.ได้ จะได้แจ้งไปยังไปรษณีย์ที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ เอกสารที่จะส่งไปยังประชาชน ประกอบด้วย หนังสือแจ้งเจ้าบ้านเกี่ยวกับผู้มีสิทธิออกเสียงใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งใด พร้อมแนบจุลสารเกี่ยวกับกระบวน การออกเสียงประชามติ สรุปเนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 6 หน้า และรายละเอียดคำถามพ่วงอีก 2 หน้า โดยขนาดของหนังสือจะเป็นขนาด เอ5 รวม 8 หน้า และจะเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มผ่านหนังสือ พิมพ์ 5 ฉบับ เพิ่ม 2 ฉบับ จากเดิม 3 ฉบับ โดยจะตีพิมพ์เป็นใบแทรกผ่านหนังสือพิมพ์ที่มียอดตีพิมพ์สูง
นายสมชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ได้ประสานส่วนตัวไปยังสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อให้จัดรายการ 10 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. – 5 ส.ค. เวลา 13.00-14.00 น. ซึ่งจะเชิญวิทยากรทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วมรายการฝ่ายละ 2 คน ทั้งนี้ กกต.จะไม่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหา แต่ขอร่วมพิจารณาตัวบุคคลที่จะเป็นวิทยากรในรายการ ส่วนประเด็น ตนได้ทำโมเดลไปให้ 10 ครั้ง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรคยังอยู่หรือไม่ คนยังใช้สิทธิรักษาพยาบาลในราคาถูกหรือไม่ เรื่องการศึกษาฟรี 12 ปี เบี้ยผู้สูงอายุ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านจะหายไปหรือไม่ หรือเรื่องการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศว่าถ้าจะไปยกดินแดนให้กับใครรัฐบาลทำได้เลยหรือไม่ ผ่านสภาแล้วถ้าไม่พิจารณาภายใน 50 วันจะมีผลบังคับใช้เลยหรือเปล่า
“เรื่องที่จะนำเสนอจะเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เป็นปัญหาปากท้องที่ประชาชนยังเข้าใจไม่ชัดเจน จึงต้องเอาคนร่างและคนที่มีความห่วงใยมาพูด แต่ไม่ใช่เอาคนที่ค้านหัวชนฝามา ต้องเป็นคนที่ค้านอย่างมีเหตุผล ด้วยความห่วงใยว่าเรื่องไหนจะกระทบสิทธิประชาชน ผมไม่เซ็นเซอร์ แต่ขอดูตัววิทยากรเพื่อมีความเห็น และพร้อมช่วยประสานส่วนตัวกับวิทยากรให้ด้วย โดยขอให้จัดรายการที่ให้โอกาสอย่างเท่าเทียม ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง และถ้าสื่อมวลชนรายใดสนใจจะจัดรายการขอให้แจ้งมาที่ผมได้เช่นกัน” นายสมชัยกล่าว
กรธ.ยังกั๊กส่งคนไปดีเบต
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีกกต.จัดดีเบตร่างรัฐธรรมนูญผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า กรธ.ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วม โดยวันที่ 22 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมกรธ. หลังจากช่วงวันหยุดยาว หากได้รับหนังสือเชิญ จะหยิบยกเข้าหารือในที่ประชุมวันดังกล่าว ทั้งนี้ มองว่าหากเวทีถกแถลงร่างรัฐธรรรมนูญ เป็นลักษณะแลกเปลี่ยนความเห็นกันแบบนี้รับได้ ไม่มีปัญหา อีกทั้งพิธีกรต้องเป็นกลาง แต่ถ้าต้องขึ้นโพเดียมแลกหมัดกันอย่างเอาเป็นเอาตายคงไม่เหมาะ ซึ่งต้องรอว่าจะเป็นรูปแบบใด ส่วนที่ตนเคยบอกรับคำท้าดีเบตกับทุกฝ่ายนั้น ยังยืนยันรับคำท้าเหมือนเดิม และถ้าได้รับเชิญส่วนตัวจริงก็ต้องหารือในกรธ.ก่อน เพราะเป็นเรื่องส่วนรวม ส่วนที่บางคนบอกว่ากกต.ช้าไป ควรเปิดให้ถกเถียงตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้วนั้น ตนคิดว่าการจัดเวทีช่วงโค้งสุดท้ายมีความสมดุลแล้ว ไม่ถือว่าช้าไปหรือเสียของ
เมื่อถามว่า กรธ.มีความมั่นใจหรือไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ เพราะเริ่มมีการพูดถึงทางออกหากไม่ผ่าน นายอมรกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าจนถึงเวลานี้มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือผ่านกับไม่ผ่าน แม้ผลสำรวจจะออกมาว่าประชาชนจะรับมากกว่าไม่รับ แต่ประชาชน ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะลงประชามติในแนวทางใดยังมีอีกถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มาก ทำให้คาดเดายากว่าผลจะออกมาอย่างไร
นายอมรกล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่าน ทางกรธ.ก็ไม่มีปัญหาเพราะเป็นการตัดสินใจของประชาชน และกรธ.ไม่เคยเตรียมแผนรับมือเรื่องนี้ หากร่างไม่ผ่านก็แค่แยกย้ายกัน แต่แน่นอนว่าย่อมเสียใจเป็นธรรมดา เพราะกรธ.ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ โดยทุกคนมองประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลักด้วยความตั้งใจจริง แต่เรายังเชื่อมั่นว่าผลจะออกมาดีหากประชาชนได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้
โรมฝากกกต.เปิดโหวตหัวข้อ
นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) โพสต์ข้อความถึงนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ระบุว่า สำหรับหัวข้อการดีเบต อยากให้ กกต.เปิดโอกาสให้ประชาชนโหวตเลือกหัวข้อได้ เพราะเป็นการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม จะได้ตรงใจของประชาชนและช่วยตอบคำถามที่ประชาชนสงสัยใคร่รู้ไปด้วย คิดว่าการเปิดให้โหวตเลือกหัวข้อคงไม่ใช้เวลามากนัก สามารถทำในเฟซบุ๊กได้อยู่แล้ว
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเทอร์ เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายสมชัยจะจัดรายการถกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องดีและไม่ขัดข้อง แต่สิ่งที่ทางกลุ่มเรียกร้องอยากให้ กกต.เปิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากกว่า กกต.ไม่จำเป็นต้องจัดเองก็ได้ ให้สถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งได้เลือกวิทยากรและหัวข้อเอง ซึ่งรายการดังกล่าวก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเชิญทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงหรือไม่ ดังนั้น ควรเปิดให้สื่อทั่วไปทุกชนิดได้จัดรายการด้วยบรรยากาศอิสระ
นายจอนกล่าวว่า ส่วนที่นายสมชัยระบุว่าเอกสารอนาคตประเทศไทยหลังประชามติ ตอนที่ 2 ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงที่ จะผิดพ.ร.บ.ประชามตินั้น เห็นว่าการที่กกต.จะชี้ว่าอะไรถูกผิดเป็นการละเมิดการแสดงความคิดเห็น ทำหน้าที่เหมือนเป็นตำรวจ ซึ่งไม่เหมาะสม ขัดกับเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย
พท.แนะปรับเวลาจัดดีเบต
นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีกกต.จะจัด ดีเบตร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากสิทธิที่จะรู้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก่อนออกเสียงประชามติของประชาชนควรได้รับการคุ้มครอง แต่ควรปรับปรุงวิธีการ เพราะทราบว่าจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในเวลา 13.00-14.00 น. ซึ่งตนเห็นว่าการเผยแพร่เพียงสถานีเดียวยังไม่เพียงพอ วิธีที่ดีที่สุดคือเผยแพร่ทางทีวีพูลทุกช่องพร้อมกันหรืออย่างน้อยควรออกอากาศในสื่อของรัฐและเอกชนซึ่งมีหลายช่อง และเชื่อว่าสถานีเอกชนจะยินดีถ้าขอความร่วมมือเผยแพร่การดีเบตร่างรัฐธรรมนูญ
นายนพดลกล่าวว่า การจะออกอากาศในช่วงเวลา 13.00-14.00 น. ของแต่ละวันนั้นจะไม่มีคนดูมากพอ เพราะเวลาดังกล่าวคนในชนบทส่วนใหญ่อยู่ในไร่ในนา และคนในเมืองส่วนใหญ่ออกไปทำงานนอกบ้าน จึงเสนอให้ออกอากาศในช่วงที่มีคนชมมากที่สุดคือไพรม์ไทม์ระหว่างเวลา 18.00-21.00 น. นอกจากนั้นแขกรับเชิญควรมีหลากหลาย เช่น ประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ ข้าราชการและกลุ่มการเมืองต่างๆ เพื่อรับฟังความเห็นให้หลากหลายมากที่สุด เมื่อจะจัดดีเบตทั้งทีก็ทำให้ดีไปเลย ถ้ากกต.ปรับปรุงตามที่เสนอ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กว่า ถือว่าเป็นเรื่องดี คือดีกว่าไม่ให้มีเลย แต่ยังไม่เพียงพอ และยังสงสัยว่าที่กกต.ทำ อย่างนี้อาจเป็นเพราะการทำประชามติครั้งนี้ ถูกวิจารณ์อย่างหนักทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ คงจะรู้สึกอับอาย แต่การจัดรายการ 10 ครั้งยังน้อยมาก ที่กกต.ควรทำคือประกาศส่งเสริมให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง จัดรายการถกเนื้อหาร่างได้อย่างเสรี ไม่ต้องเคร่งครัดว่าจะต้องมี 2 ฝ่ายเสมอไป นอกจากนั้น กกต.ควรเลิกคอยจับผิดข่มขู่ฝ่ายไม่เห็นชอบ และหันมายืนยันว่าอะไรทำได้บ้าง
นายจาตุรนต์ระบุว่า ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าฉบับเต็มหรือฉบับย่อ ที่ไปชี้นำชาวบ้านกันอยู่ก็มักบอกว่าให้ผ่านๆ ไปเถอะ คสช.อยากไปเต็มทีแล้ว จะได้มีเลือกตั้งหรือประเทศจะได้เดินหน้าบ้าง ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบเลยต้องไปตามแก้ เพราะจริงๆ แล้วถ้าผ่าน คสช.ยิ่งอยู่ยาวและการเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย เพราะพรรคที่ประชาชนเลือกไม่ว่าพรรคใดจะไม่ได้เป็นรัฐบาล เนื่องจากส.ว. 250 คน จะมาร่วมเลือกนายกฯ ถึงไม่ผ่านก็มีเลือกตั้ง และจะได้ร่างที่ดีกว่าเดิม เลยโต้กันอยู่อย่างนี้ ไม่ค่อยได้พูดถึงเนื้อหากันมากนัก
ชี้ถ่ายทอดทีวีพูล-10ครั้งน้อยไป
นายจาตุรนต์ระบุว่า การทำประชามติครั้งนี้กำลังเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่สุดในโลก เนื่องจากมีแต่การปิดกั้นการให้ข้อมูลและแสดงความเห็นต่าง ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ แม้แต่เนื้อหาของร่าง มีแต่การชี้นำให้รับอยู่ฝ่ายเดียว ข่มขู่คุกคามฝ่ายที่เห็นต่างอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน จนไม่ควรเรียกว่าการทำประชามติด้วยซ้ำ แม้จะช้าไปมาก แต่ยังไม่สายเกินไปที่ กกต.จะไถ่บาปของตัวเอง การจัดรายการ 10 ครั้งนั้นจิ๊บจ๊อยเกินไป ไม่พอแน่
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่เอาด้วยกับการเปิดเวทีของกกต. เสียเวลา จะไปเพิ่มอารมณ์ขัดแย้งให้คนดู ถ้าผู้ร่างกับผู้เกี่ยวข้องจริงใจแต่แรก ควรเริ่มตั้งแต่ร่างมาตราแรกๆ มาจัดตอนใกล้วันลงคะแนนทำไม หน้าที่ของกรธ.กับกกต. คือ แจกร่างให้ถึงมือประชาชนมากที่สุด ที่บ้านของตนยังไม่ได้ร่างจริงเลย แบบนี้คนดูจะเอาคู่มือที่ไหนประกอบการดูรายการทีวีที่จัดขึ้น นักการเมืองไม่ว่าจะใคร พรรคไหนก็เชิญ แต่ส่วนตัวไม่ไปเพิ่มแรงบีบรัดในความรู้สึกคนแน่นอน
“ผ่านมา 10 กว่าปี เห็นกันอยู่ จัดทีไรวงแตกทุกที ไปนั่งแต่งหน้าทาปาก ปั้นหล่อบนเวทีเปล่าประโยชน์ กกต.คงพยายามกลบเกลื่อนเรื่องแจกร่างให้ประชาชนไม่ทันตามเป้าหมายมากกว่า ถ้าประชาชนไม่มีร่างในมือ พอดูรายการที่กกต.จัด คงไม่ต่างจาก ดูกีฬาอย่างไม่เข้าใจกติกา การตัดสินใจต่อประชามติจึงอาจผิดเพี้ยน” นายนิพิฏฐ์ กล่าว
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า แม้ตนจะไม่เห็นด้วยกับวิธีที่ล้มเหลวมา 10 ปี แต่ตนสนับสนุนการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ คุยหลายครั้งจนกว่า จะได้ข้อสรุป เรื่องที่เคยหารือกับคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ต้องคุยต่อแน่นอน แต่ต้องคุยกันหลังการทำประชามติ เพื่อไม่ให้กระทบสมาธิประชาชนว่าจะไปลงคะแนนวันที่ 7 ส.ค. อย่างไร ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงว่า ระบอบประชาธิปไตยไทย จะปฏิเสธอำนาจของทหารไม่ได้ ถ้าเรามีความคิดกันทหารออกจากนอกวงเจรจา ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไปต่อไม่ได้ ดังนั้น ทหารต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ค้ำจุน ขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย แต่ทหารจะถืออำนาจแบบเบ็ดเสร็จ โดยไม่แชร์อำนาจกับฝ่ายการเมือง หรือให้ประชาชนคงไม่ได้ วันนี้ทุกฝ่ายเมื่อมีอำนาจอยู่ในมือกลับปฏิเสธซึ่งกันและกัน เรื่องรัฐธรรมนูญ อย่าสู้กันเอาเป็นเอาตายว่าต้องผ่านหรือไม่ผ่าน ให้ชาวบ้านเขาตัดสิน ผลเป็นอย่างไรต้องยอมรับถ้าไม่ผ่านก็ต้องร่างใหม่
นายนิพิฏฐ์กล่าวถึงการแถลงจุดยืนของพรรคต่อร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 ก.ค. นี้ว่า เบื้องต้นเท่าที่พูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ทราบว่าพรรคจะประกาศท่าทีหรือจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติในช่วงปลายเดือนก.ค. หรือก่อนวันลงประชามติ 7-10 วัน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ คงจะชัดเจนหลังจากนายอภิสิทธิ์เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งยืนยันว่าจะมีการประกาศจุดยืนแน่นอน
ชาวบ้านแห่ให้กำลังใจ”ปู”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เดินตลาดบางกะปิ เพื่อซื้อของดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสังฆทานต่างๆ เพื่อเตรียมทำบุญเนื่องในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา โดยมีประชาชนสนใจมาขอถ่ายรูปและให้กำลังใจและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกจำนวนมาก โดยมีชาวบ้านบางรายบ่นว่าช่วงนี้ไม่ค่อยได้เห็นหน้าทางเฟซบุ๊กและโทรทัศน์ ทำให้คิดถึง และขอให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้โดยเร็ว นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า หลังจากทำบุญมา ขอนำบุญมาฝาก ขอให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีชีวิตสว่างไสวดุจแสงเทียน แคล้วคลาดปลอดภัยจากคดีความต่างๆ และสวยวันสวยคืนตลอดไป
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ สภ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร พ.ท.ชนการ แสงศร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 14 นายสุวิทย์ สันตติวงศ์ไชย นายอำเภอขาณุวรลักษบุรี พล.ต.ต.ดำรงค์ เพ็ชรพงศ์ ผบก.จว.กำแพงเพชร พ.ต.อ.อิทธิ ชำนาญหมอ ผกก.สภ.ขาณุ วรลักษบุรี พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ธีรศรัญยานนท์ สารวัตรหัวหน้าตำรวจสันติบาลกำแพงเพชร พ.ต.ท.ถวัลย์ หาไชย รองผู้กำกับสืบสวนภูธรจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่ทหาร ชุดสืบ สวนภูธรขาณุวรลักษบุรี ได้ติดตามคดีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติ หน่วยที่ 5 ภายในโรงเรียนวชิรสารศึกษา บ้านเหนือ ต.สลกบาตร อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ถูกฉีกขาดเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา
พล.ต.ต.ดำรงค์เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานบุคคล ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก พยานวัตถุ ภาพจากกล้องวงจรปิด พบว่าเกิดจากเด็กหญิงวัย 8 ขวบ 2 คน ซึ่งมีบ้านอยู่หลังโรงเรียน ได้ไปวิ่งเล่นบริเวณดังกล่าว แล้วกระโดดฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติที่กระดานด้วยความซุกซน รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีไปตามกฎหมาย แม้มีความผิดแต่เด็กก็ไม่ต้อง รับโทษ เนื่องจากผู้กระทำความผิดยังเป็นเด็ก กระทำการก่อเหตุโดยไม่มีเจตนา และอายุยังไม่ถึงตามที่กฎหมายกำหนด
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีมีมือดีเข้าไปฉีกทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติที่ติดไว้บริเวณศาลาประจำหมู่บ้านใน จ.กำแพงเพชร ว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ร่วมกันสืบสวนติดตามตัวผู้กระทำผิด ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบเรื่องแล้ว และอยากเตือนสติสังคมให้ระมัดระวังการ กระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย และไม่หลงเชื่อผู้ที่ไม่หวังดี เพราะหากฝ่าฝืนกฎกติกาจะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใคร และยังกำชับให้ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อการออกเสียงประชามติ ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ เฝ้าระวังป้องกันและระงับเหตุอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะช่วงใกล้วันลงประชามติ
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ขณะนี้ปล่อยข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชี่ยลมีเดีย ให้ระวังการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทางเว็บไซต์ของกรมการปกครอง www.khonthai.com โดยหากกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักแล้วจะทำให้ข้อมูลประชาชนไม่ปลอดภัย ถูกแก้ไข หรือถูกลักลอบไปทำธุรกรรมที่เสียหาย ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการกรอกเลขประชาชนเป็นเพียงการนำเข้าสู่ระบบแสดงผลข้อมูลอัตโนมัติ ทำให้ผู้ใช้งานทราบว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติหรือไม่ จึงไม่เกี่ยวกับการแก้ไขข้อมูลใดๆ และกรมการปกครองมีฐานข้อมูลพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลว่าจะละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานต่างๆ ก็ใช้การกรอกเลขบัตรประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องอันตราย
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยยกย่อง “ตุรกีโมเดล” หรือพลังประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารซึ่งเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยว่า พรรคเพื่อไทยอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยพยายามตีความเหตุการณ์ด้วยการกล่าวอ้างประชาธิปไตยและโยนบาปให้กับทหาร ทั้งนี้ หลังจากพรรคเพื่อไทยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ก็มีผู้รู้และนักวิชาการหลายคนออกมาอธิบายข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นว่าข้อมูลที่พรรคเพื่อไทยพยายามสร้างกระแสสังคมนั้นจุดไม่ขึ้น ทั้งยังบ่งบอกด้วยว่าผู้นำเสนอข้อมูลได้เล่าเรื่องเพียงด้านเดียว ขาดความน่าเชื่อถือพล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า พลังอำนาจของประชาชนที่ถูกอ้างนั้นได้ลุกขึ้นต่อต้านผู้ที่ทำร้ายบ้านเมือง หากประชาชนไม่สนับสนุนต่อให้ทหารมีกำลังมากเพียงใดย่อมไม่สามารถทำภารกิจนี้ไดสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่เคยปฏิเสธประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 เป็นเช่นไรเชื่อว่าประชาชนทราบดี คำตอบของการเข้าควบคุมอำนาจโดย คสช. คือการเรียกคืนความเป็นปกติสุข ยุติความรุนแรง และวางรากฐานการปฏิรูปประเทศให้ก้าวสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
ที่ จ.ลำปาง พล.ต.ต.นิยม ด้วงสี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ในการติดตามผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่มีผู้ไม่หวังดีนำจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 4,306 ซอง ซึ่งเป็นยอดจาก 9 ตู้ไปรษณีย์ ในเขตตัวเมืองลำปาง ที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ สาขาลำปาง ตรวจพบและสกัดได้ก่อนจะส่งไปยังบ้านเรือน เมื่อวันที่ 12 ก.ค.นั้น ขอย้ำว่าตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สืบสวนเพื่อหาต้นตอของแหล่งที่มาของจดหมาย และหาผู้กระทำความผิด ซึ่งคดีนี้เกี่ยวข้องกับความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ ข้อมูลเชิงลึกไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะจะกระทบต่อคดี มั่นใจว่าจะนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้แน่นอน แต่ขอเวลาทำงานเพราะการสืบสวนจับกุมจะต้องรัดกุม มีพยานและหลักฐานมากที่สุดเพื่อประกอบคดี ที่มี กกต.ลำปางเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำการดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.อ.พสธร ถานี รอง ผบ.ร้อยสารวัตรทหาร มณฑลทหารบกที่ 32 ลำปาง นำกำลังเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร และเจ้าหน้าที่ทหารของ มทบ.32 ลำปาง ร่วมกับ พ.ต.ต.สมชาย ก้านชมภู สารวัตรสืบสวน กลุ่มงานสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง เข้าตรวจค้นบ้านของนายรัชชานนท์ รอดฉวาง แกนนำคนเสื้อแดงใน จ.ลำปาง เพื่อตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายหรือหลักฐานใด และได้ขอความร่วมมือให้นายรัชชานนท์มาพิมพ์ลายนิ้วมือที่ สภ.ห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ด้วย เพื่อนำลายนิ้วมือที่ได้ทั้ง 10 นิ้ว และฝ่ามือ ไปตรวจสอบเทียบกับลายนิ้วมือแฝงที่อยู่บนซองจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ โดยนาย รัชชานนท์กล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นต่อการส่งจดหมายบิดเบือนในครั้งนี้
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวทางเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า แปลกใจที่ตัวแทนรัฐบาลพยายามอธิบายว่ามีการปลุกกระแสตุรกีโมเดล แต่ปลุกไม่ขึ้น ซึ่งดูถูกประชาชนเกินไป เพราะยังไม่มีใครคิดขับไล่รัฐบาลของ คสช.แบบตุรกี ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นอะไรควรระวัง หลักใหญ่ของเราคือเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่กลับมีเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น การฉีกบัตรรายชื่อหน้าหน่วยลงประชามติแล้วบอกว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ต่อมาบอกเป็นคนเมา จนมาถึงเด็ก 8 ขวบ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงคนไทยรอคอยวันที่ 7 ส.ค. เพื่อจะบอกกับผู้มีอำนาจว่าคนไทยคิดอะไร ฉะนั้น ความพยายามสร้างเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งรัฐธรรมนูญปลอม การส่งจดหมายจะส่งจากที่ไหนก็ได้ หากเนื้อหา ไม่ขัดกับมาตรา 61 วรรคสอง แต่มาสร้างสถานการณ์เกินจริงว่าส่งจดหมายผิด
“การสร้างวาทกรรมตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงมาถึงรัฐธรรมนูญปลอมเป็นวาทกรรม ของคนที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญผ่าน ซึ่งความเห็นที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญปลอม ไม่ใช่ส่งจดหมายหรือแจกเอกสารแล้วจะเป็นการทำความผิด ถ้าฝ่ายรับทำอะไรก็ได้ แล้วฝ่ายไม่รับทำอะไรก็บอกว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ผมบอกได้ว่าไม่ใช่ความมั่นคงของชาติ แต่เป็นภัยของความมั่นคงของคนที่ขาดสติเพียงไม่กี่คน” นายจตุพรกล่าว
วันที่ 19 ก.ค. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่า กมธ.เตรียมกำหนดประเด็นสำคัญเพื่อบรรจุในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ที่ต้องดำเนินการหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.การเลือกตั้งส.ส. 2.การได้มาซึ่งส.ว. 3.พรรคการเมือง และ 4.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
นายเสรีกล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายเหล่านี้เพื่อสร้างความโปร่งใส ป้องกันไม่ให้นายทุนมาควบคุมพรรค และลดการซื้อสิทธิขายเสียง โดยจะกำหนดบทลงโทษที่สูงขึ้น เช่น ระวางโทษจำคุก 10 ปีสำหรับผู้ซื้อเสียง และถ้าเป็นกรณีที่มีกลุ่มนายทุนเข้ามาครอบงำพรรค จะต้องโทษจำคุก 10 ปี และปรับ 20 ล้านบาท นอกจากนี้ จะเสนอให้มีการกำหนดรางวัลนำจับแก่ผู้ที่ชี้เบาะแสให้กับผู้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเป็นเงิน 1 แสนบาท การเสนอให้กำหนดบทลงโทษไว้สูงเช่นนี้ เพื่อป้องปรามให้ผู้กระทำความผิดไม่กล้าทำผิดกฎหมาย
นายเสรีกล่าวว่า ส่วนบทลงโทษว่าด้วยการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งยังคงมีอยู่ตามเดิม แต่จะเป็นเฉพาะกรณีที่พรรคการเมืองมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่มียุบพรรคการเมืองที่มาจากการกระทำความผิดของกรรมการบริหารพรรคเพียงคนเดียว เพราะพรรคการเมืองถือเป็นสถาบันสำคัญทางการเมือง แต่จะกำหนดบทลงโทษเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่กระทำความผิดเฉพาะบุคคลเท่านั้น
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ ชี้แจงกรณีมีข่าวตามสื่อโซเชี่ยลระบุจะมีการตัดไม้สักเหนือเขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ บริเวณถ้ำหินย้อยเป็นโครงการพระราชดำริ เพื่อนำไปสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยอ้างเป็นคำสั่งผู้ใหญ่ว่า กรมป่าไม้ โดยผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) รายงานว่า ไม้สัก ดังกล่าว เป็นไม้สักในแปลงปลูกป่า โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เป็นผู้ได้รับอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง เพื่อปลูกสร้างสวนป่าสัก ซึ่งผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ได้สอบถามผู้จัดการอ.อ.ป.เชียงใหม่ ทราบว่าการก่อสร้างรัฐสภา ผู้รับเหมามีความต้องการไม้สักกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว จำนวนมาก จึงติดต่อทางอ.อ.ป. ซึ่ง อ.อ.ป.ได้ให้สวนป่าภายใต้สังกัดทั่วประเทศสำรวจไม้สักที่ได้ขนาดตามความต้องการดังกล่าว
โดยสวนป่าแม่หอพระ ของ อ.อ.ป.เชียงใหม่ สำรวจพบว่าไม้สักแปลงปี 2521 จำนวน 2,000 กว่าต้น บริเวณบ้านป่าสักงามหมู่ที่ 1 ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีขนาดตรงตามที่ อ.อ.ป.สั่งการสำรวจ แต่ยังไม่ดำเนินใดๆ เกี่ยวกับการตัดไม้สัก เพียงเป็นการเข้าสำรวจ ประกอบกับชาวบ้านต้องการอนุรักษ์ไม้สักไว้ ซึ่งการจะขออนุญาตใช้พื้นที่ในป่า สงวนฯ ต้องผ่านความเห็นจากท้องถิ่นก่อน ในกรณีพื้นที่นี้คือทางเทศบาล ต.ลวงเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยที่จะเข้าไปตัดไม้สักและไม่เห็นด้วยในการต่อใบอนุญาตเพื่อใช้ประโยชน์จากไม้สักในพื้นที่
นายประลองกล่าวว่า ล่าสุด เช้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้าคสช. โทรศัพท์สายตรงมายัง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ขอให้ยุติการตัดไม้สักเพื่อมาสร้างรัฐสภา และหาวิธีฟื้นฟูและร่วมกับชุมชนในการอนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำกลับมาเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ ตามนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐบาล และมีมาตรการดูแลให้คงสภาพป่าสมบูรณ์ตลอดไป กรมป่าไม้มีคำสั่งให้หยุดการใช้ไม้ในพื้นที่แล้ว ส่วนจะหาไม้มาจากไหนนั้น เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมา ซึ่งจะสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ หรือจะสั่งซื้อกับ อ.อ.ป.ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงในอนาคต