ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี ได้รับการเปิดเผย จาก รศ.ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก ให้เกียรติกับทีมข่าวฯ เล่าความเป็นมาศิลาจารึกเสาแปดเหลี่ยมเป็นภาษามอญโบราณ ขุดพบที่ศาลสูงเมืองลพบุรี คุณค่าทางประวัติศาสตร์ สมควรอนุรักษ์ ตอนหนึ่งว่า ทรงคุณค่าประวัติศาสตร์ ศิลาจารึกเสาแปดเหลี่ยมภาษามอญโบราญ พบที่ศาลสูงเมืองลพบุรี
ศิลาจารึกบนเสารูปแปดเหลี่ยมพบที่ศาลสูง (ศาลพระกาฬ) จังหวัดลำบุรี มีเนื้อที่เป็นเรื่องราวแสดงถึงความเชื่อลัทธิศาสนาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเมืองลพบุรีแต่ครั้งอดีต
ไม่ปรากฏหลักฐานผู้จารึก ระยะเวลาการจารึกในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ประมาณ พ.ศ. ๑๓๑๔) เป็นหินชนวน รูปลักษณะเป็นเสาแปดเหลี่ยม หัวเสาทำเป็นรูป ๔ เหลี่ยมจำหลักลวดลาย ขนาดความสูง ๑๔๕ เซนติเมตร กว้างด้านละ ๙ เซนติเมตร พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้ไปพบอยู่ที่ศาลสูงเมืองลพบุรี ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ
การจารึกใช้อักษรภาษามอญโบราณ จารึกอักษรทั้งหมด ๘ ด้าน เรื่องที่จารึกแบ่งออกเป็น ๔ ตอน กล่าวถึงการทำบุญของบุคคลและคณะบุคคลต่างๆ กัน โดยการถวายสัตว์ สิ่งของ และข้า (วัด) หรือคนรับใช้ไว้ในพระพุทธศาสนา แสดงว่ากลุ่มชนที่ใช้ภาษามอญในบริเวณเมืองลพบุรี สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๔ นั้น นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว
ตอนที่ ๑ มีจารึกอักษร ๑๑ บรรทัด ความว่า บุญนี้ขอถวายแก่อุปัชฌาย์ อันข้าพเจ้าสีลปาละ สีลกุมารและครอบครัวได้ถวายข้าไว้แก่พระพุทธรูปวุทร ได้เปลี่ยนเครื่องประดับ (ผ้าห่ม) พระพุทธรูป พร้อมกับซื้อวัว ๑ คู่ เกวียน ๑ เล่ม ถวาย บุญอันได้ถวายข้า วัว เกวียนแก่พระพุทธรูปวุทรด้วยศรัทธาของสุมง (ข้าพระ) ผู้รักษาพระพุทธศาสนาจงได้รับผลบุญ
ตอนที่ ๒ มีจารึกอักษร ๗ บรรทัด กล่าวว่า ปู่น้อยยุเกรียะห์ ถวายข้า (วัด) ได้ปลดปล่อย ลา (๓ ตัว) วัว (๓ ตัว) ถวายไว้แก่แก่พระพุทธรูปวุทธรักขะด้วยศรัทธาอย่างแท้จริง ขอผลบุญจงถึงแก่อินทะ
ตอนที่ ๓ มีอักษร ๓ บรรทัด กล่าวว่า บุญนี้ที่ได้ถวายเครื่องไทยทานและปฏิบัติสงฆ์ขอผลบุญที่ได้กระทำจนถึงแก่นักฟ้อนรำ
ตอนที่ ๔ มี ๓ บรรทัด ใจความไม่สมบูรณ์เพราะชำรุดหลายแห่ง
ผู้อ่านอักษรโบราณ คือ นายเทิม มีเต็ม ผู้แปลจากภาษามอญเป็นภาษาไทยคือ นายจำปา เยื้องเจริญ
เพื่อสร้างความภาคภูมิใจร่วมกันของชาวมอญบางขันหมากที่ลพบุรี พระปัญญาวุฒิผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอัมพวันซึ่งเป็นผู้นำในการสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมมอญจึงขอความร่วมมือจากอาจารย์ณฤทธิ์ ประจงแต่ง อาจารย์สาขาศิลปะการออกแบบคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ถอดแบบลวดลายจากเสาแปดเหลียมจารึกภาษามอญนี้ แล้วประยุกต์เป็นลวดลายที่จะปรากฏในของที่ระลึกของมอญบางขันหมากลพบุรีต่อไป (เช่น สไบมอญ เป็นต้น)
อ้างอิงจาก: “จารึกเสาแปดเหลี่ยม,” D-Library | National Library of Thailand, เข้าถึง 3 กันยายน 2019, [http://164.115.27.97/digital/items/show/6515](http://164.115.27.97/digital/items/show/6515?fbclid=IwAR3lbE75HFYJOA_I6uU9N2R1p3M_UDW9TxbNaT-tR-Mb2O2PnFgbR7XhWRI) และที่อื่นๆ ใจรัก วงศ์ใหญ่ จันทิมา พูลสวัสดิ์ ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี