“กกต.” เพิ่งตื่นพีอาร์ร่างรัฐธรรมนูญช่วงโค้งสุดท้าย จัด “ดีเบต” ฝ่ายหนุน-ค้านผ่านหน้าจอต่อเนื่อง 10 วัน วันละ 1 ชั่วโมง พร้อมตีพิมพ์ร่าง รธน.ลงหนังสือพิมพ์รายวันตั้งแต่ 21 ก.ค. “สุวพันธุ์” ยันยังไม่มีข่าวความรุนแรง เนติบริกรตอกย้ำหากประชามติคว่ำก็ร่างใหม่ แต่ไม่มีกำหนดเวลาเมื่อใดเพราะมีหลายปัจจัย “เพื่อไทย” ผวาส่อลากยาวเลยโรดแมป “อภิสิทธิ์” จ่อแสดงท่าทีหลังกลับจากสหรัฐอเมริกา
เมื่อวันจันทร์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ถึงการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมว่า ได้หารือกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสแล้ว จะมีการจัดรายการถกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างเผยแพร่ระหว่างเวลา 13.00-14.00 น. เป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน รวม 10 ครั้งใน 10 วัน ระหว่างวันที่ 25 ก.ค.จนถึงวันที่ 5 ส.ค.นี้ โดย กกต.เป็นผู้กำหนดประเด็นเนื้อหาทั้งหมด 10 หัวข้อ
“หัวข้อส่วนใหญ่เป็นปัญหากระทบความเป็นอยู่ใกล้ตัวเกี่ยวกับสิทธิที่ประชาชนห่วงใย และการปล่อยข่าวให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดมาตลอด เช่น บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค, เบี้ยผู้สูงวัย, การศึกษาฟรี 12 ปี, การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ, สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการรักษาอธิปไตยของชาติ และอาจมีประเด็นการเมืองที่เป็นที่สนใจ เช่นที่มาของนายกรัฐมนตรี” นายสมชัยกล่าว
นายสมชัยกล่าวอีกว่า จะมีกลุ่มนักวิชาการจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และกลุ่มประชาธิปไตยใหม่มาร่วมเวทีในฐานะที่เป็นผู้เสนอขอให้มีเวทีพูดคุยอย่างเสรีจำนวน 4 ครั้ง กลุ่มตัวแทนภาคประชาชนทั่วไปอีก 6 ครั้ง และจะพยายามเชิญตัวแทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาร่วมถกภายใต้บรรยากาศการพูดคุยกันที่เป็นสาระ ไม่มีการใช้สำนวนตีรวน เอาชนะ ปลุกระดม หรือเอาแต่ความสนุกสนาน แต่เป็นสุภาพชนในฐานะที่แสดงความห่วงใยต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการควบคุมไม่ให้เกิดสภาพฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นเสียงข้างมากรุมอีกฝ่าย
นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต.กล่าวถึงกรณีการตีพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยว่า จะเริ่มทยอยตีพิมพ์ตั้งแต่ 21 ก.ค.เป็นต้นไป เตรียมวงเงินค่าใช้จ่าย 10 ล้านบาท โดยซื้อเนื้อที่หนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทย 8 ฉบับ ได้แก่ เดลินิวส์, ไทยรัฐ, มติชน, แนวหน้า, คมชัดลึก ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดพิมพ์รวมต่อวันราว 5 ล้านฉบับ และขออนุมัติอีก 2 ฉบับ ได้แก่ ไทยโพสต์และโพสต์ทูเดย์ โดยตีพิมพ์ฉบับละ 1 วันไล่กันไป พิมพ์เพิ่มเป็น 8 หน้า หรือเพิ่ม 2 คู่กระดาษ เพิ่มเติมจากหน้ากระดาษปกติ โดยกำหนดว่าต้องใช้ขนาดตัวอักษรที่ไม่เล็กกว่าขนาดตัวอักษรในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ และหากมีพื้นที่เหลือก็จะตีพิมพ์ลิงก์เว็บไซต์อื่นๆ ของ กกต.ที่จะให้ความรู้และเชิญชวนไปออกเสียงประชามติ ตามเจตนาของ กกต.คือต้องการเผยแพร่ให้มากที่สุด ด้วยค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าที่สุด
ด้านนายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ.กล่าวว่า นายสมชัยได้เคยแจ้งให้ กรธ.รับทราบแล้วถึงการเปิดเวทีอภิปรายหรือดีเบตเมื่อครั้งประชุมร่วมกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้นยังไม่ได้ระบุรายละเอียดว่ารูปแบบเวทีดีเบตจะมีลักษณะอย่างไร ดังนั้นตามขั้นตอนคงต้องรอให้ กกต.แจ้งรายละเอียดต่างๆ มาให้ กรธ.อย่างเป็นทางการก่อน จากนั้น กรธ.ถึงประชุมและมีความเห็นร่วมกันต่อไป
“เวทีอภิปรายเชิงวิชาการขององค์กรหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ หากเชิญ กรธ.ไปร่วมแสดงความคิดเห็นหรือให้คำอธิบายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น กรธ.คงจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป ขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุม กรธ. เพราะที่ผ่านมาเคยมีการชูป้ายโหวตโนระหว่างที่ กรธ.ไปร่วมเวทีก่อนหน้านี้” นายนรชิตระบุ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเรื่องนี้ว่า ขึ้นอยู่กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.ว่าจะทำกันอย่างไร แต่เชื่อว่าขณะนี้คงเลยเวลาออกมาถกกันแล้ว และถ้าจะมาเชิญไปออกรายการก็คงจะไม่ไปเพราะไม่มีประโยชน์ แต่ก็ไม่อยากไปตัดกำลังใจ กกต.ในสิ่งที่ทำอยู่
“ฝ่ายที่เห็นแย้งสมควรมีสิทธิ์ได้แสดงความเห็นของเขา ขอยืนยันว่าความเห็นแย้งหรือเห็นต่างในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนั้นควรเปิดโอกาสให้มีการถกกันอย่างอิสระ เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่คนในสังคมจะมีความเห็นตรงกันหมด” นายนิพิฏฐ์กล่าว
นายนิพิฏฐ์ยังกล่าวถึงกรณี กกต.จะรณรงค์ตีพิมพ์เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญในหนังสือพิมพ์ว่า เป็นประโยชน์ แต่ไม่ทราบว่าสิ่งที่จะสรุปลงหนังสือพิมพ์นั้นเป็นไปในทางใด แต่เชื่อว่าฝ่ายผู้ชี้แจงก็คงเอาประเด็นที่โน้มน้าวให้ประชาชนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญมาตีพิมพ์มากกว่าตีพิมพ์ประเด็นปัญหา อย่างไรก็ตาม จากคนที่อยู่ในพื้นที่สิ่งสำคัญคือ ต้องส่งเอกสารสรุปสาระสำคัญร่างให้ชาวบ้านเพื่อให้เขาได้อ่านและพิจารณาด้วยตัวเอง
นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า เหลือเวลาเพียง 3 สัปดาห์ก่อนวันลงประชามติ แต่ประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจสาระรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญที่สุดของประเทศ นอกจากการเปิดพื้นที่เสรีภาพให้ฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญควรเข้าถึงสื่อของรัฐอย่างเท่าเทียม ขอถามว่าถ้ากฎหมายให้ทำได้ ทำไมผู้มีอำนาจหน้าที่รวมทั้ง กกต.ไม่เร่งรีบจัดให้มีเวทีให้ทุกฝ่ายได้ร่วมพูดคุยดีเบตเนื้อหารัฐธรรมนูญ แล้วอาจถ่ายทอดผ่านทีวีพูลถ้าทำได้ โดยอาจหยิบ 14 ประเด็นมาออกทีวี 14 วันต่อเนื่องก่อนการลงประชามติ โดยในการอภิปรายนั้นให้จับเวลาในการพูดฝ่ายละเท่ากันเพื่อความเป็นธรรม เน้นการให้ข้อมูลแก่ประชาชนมากกว่าการโต้วาทีเอาชนะคะคาน
ดีเบตกระตุ้นคนใช้สิทธิ์
“ถ้าทำได้จะทำให้คนเข้าใจเนื้อหาและเหตุผลของฝ่ายเห็นชอบและไม่เห็นชอบได้ง่ายและเร็วขึ้น ไม่ใช่เถียงคนละทีสองที ซึ่งประชาชนก็สับสน และจะช่วยกระตุ้นให้คนสนใจเนื้อหาและตื่นตัวไปใช้สิทธิ์มากขึ้นด้วย เพราะคนไทยชอบฟังมากกว่าอ่าน และรายการทีวีประเภทนี้เป็นเรื่องปกติในประเทศที่เขาทำประชามติ” นายนพดลกล่าว
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญคือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ประชาชนบางส่วนอยากมีส่วนร่วมด้วยการแสดงความคิดเห็นก่อนลงประชามติ หากปิดกั้นอาจทำให้รู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ ดังนั้น ถ้าการแสดงความคิดเห็นของประชาชนหากไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ควรเปิดโอกาสให้ดำเนินการไป และจริงๆ แล้วควรเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่กระบวนการร่าง แต่เมื่อขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้แล้ว การเปิดโอกาสแสดงความคิดเห็นที่ไม่บิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก็ยังจำเป็นอยู่ ส่วนไหนที่ภาคส่วนต่างๆ ติดใจ เช่นกรณี ส.ว.สรรหา 250 คนก็ให้พูดออกมา ฝ่ายผู้ร่างจะได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่ร่างแบบนั้น เพื่อให้คนกลางๆ ที่ยังไม่ตัดสินใจได้รับฟังข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพราะหากปิดกั้นคนกลางๆ เหล่านี้อาจรู้สึกถูกจำกัดสิทธิ์ไปด้วย
ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวบางพื้นที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเชิญพระสงฆ์เข้าพูดคุยเพื่อขอให้ร่วมประชาสัมพันธ์ว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ เรื่องการลงประชามตินั้นทุกฝ่ายก็อยากให้ข้อมูลรายละเอียดของรัฐธรรมนูญไปถึงมือประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ ดังนั้นวิธีการใดที่จะทำให้ข้อมูล เอกสาร แผ่นพับ ส่งถึงประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงได้นั้นคิดว่า กกต.ก็อยากทำ โดยใช้กลไกทุกกลไกที่มีอยู่ ขอย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการรับรู้ การทำความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การข่าวในช่วงโค้งสุดท้ายของการลงประชามติจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวรุนแรงหรือไม่ นายสุวพันธุ์ย้อนถาม สื่อได้ข่าวอย่างนั้นหรือ แต่ตนเองไม่ได้รับรายงานเรื่องเหล่านี้
สำหรับกรณีมีกลุ่มทำลายบัญชีผู้มีสิทธิ์ในการลงคะเเนนประชามติ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อว่าตัวเองมีสิทธิ์ในการลงคะแนนวันที่ 7 ส.ค.หรือไม่ ผ่านช่องทาง www.khonthai.com โดยเพียงกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของตนเองลงในช่องด้านขวามือของหน้าเว็บไซต์ ก็จะบอกผลว่าต้องไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งที่ไหน โดยไม่ต้องเสียเวลาออกจากบ้านไปดูด้วยตนเอง
“ยืนยันว่าเว็บไซต์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีความปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูลประชาชนจะถูกแก้ไขหรือลักลอบไปทำธุรกรรมที่เสียหายแต่อย่างใด” นายกฤษฎากล่าว
กทม.ปัดรีดไถ
ขณะที่นายหัสฎิณ ปิ่นประชาสรร ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา ในฐานะประธานผู้อำนวยการเขต กทม. ชี้แจงกรณีนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.ระบุว่ามีการสั่งให้ข้าราชการขอเงินสนับสนุนหรือสปอนเซอร์จากผู้ประกอบการรายละ 5,000 บาทเพื่อจัดทำป้ายรณรงค์ออกเสียงประชามติว่า ที่ผ่านมา กกต.จัดงบประมาณประชาสัมพันธ์ให้เขตน้อยมาก โดยให้ป้ายมา 6 ป้าย ขนาด 1 เมตร คูณ 4 เมตร และเพิ่งจัดส่งมาให้ไม่นาน ขณะที่ กทม.ก็จัดงบประมาณให้ 50 เขต จำนวน 23.77 ล้านบาท แต่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร และให้มาเพียง 1 ป้ายเท่านั้น ขณะที่มีการตั้งเป้าต้องเชิญชวนประชาชนออกมาลงคะแนนถึง 80%
“ผมยืนยันว่าไม่มีการใช้ลูกน้องไปรีดไถอย่างที่กล่าวหา ประเภทเดินเข้าไปแล้วขอให้สนับสนุนรายละ 5 พันบาทไม่น่าเป็นไปได้ หมดสมัยไปแล้ว ซึ่งงบที่ได้รับการจัดสรรมาหากมองว่าพอมันก็พอ อยู่ที่มุมมองของแต่ละเขต หากเห็นว่าติดไป 1-2 ป้ายเพียงพอก็ไม่มีปัญหา แต่หากจะให้มาใช้สิทธิ์ถึง 80% นั้นมันยากมาก เพราะขนาดเลือกตั้งทั่วไปยังได้แค่กว่า 50% และหากมีคนออกมาน้อยเราก็จะถูกตำหนิว่าไม่ช่วยรณรงค์หรือปล่อยเกียร์ว่าง ทั้งที่ผ่านมาทุกเขตก็ทำงานกันแข็งขัน” นายหัสฎิณกล่าว
นายหัสฎิณยังกล่าวว่า การขอสปอนเซอร์แล้วแต่มุมมอง ไม่มีผิดถูก แต่ต้องไม่ไปรีดไถ ถ้าเขาให้มาด้วยความไม่สมัครใจก็ไม่ดีกับทั้งสองฝ่าย จะมองว่ามีงบ 100 ก็ทำแค่นั้นไม่ควรทำ 300 มันก็ได้ แต่เวลาคนมาใช้สิทธิ์น้อยก็อย่ามาโทษแล้วกัน เพราะการเชิญชวนประชาชนออกมาลงคะแนนเสียงประชามติครั้งนี้ยากกว่าการลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะไม่มีนักการเมืองหรือหัวคะแนนมาทำ มีแต่ฝ่ายข้าราชการ และการรณรงค์ก็จะเน้นให้ไปใช้สิทธิ์เป็นหลัก โดยพยายามเลี่ยงไม่พูดประเด็นชี้นำ
วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้กล่าวถึงทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติว่า ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าขั้นตอนในการร่างใหม่ว่าต้องเป็นอย่างไร ใช้เวลากี่วันในการร่างใหม่ แต่ทั้งนี้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจริงก็ยังเป็นไปตามโรดแมป ส่วนการร่างใหม่จะเสร็จเร็วหรือช้าอยู่ที่ว่าใช้กี่คนในการร่าง ถ้าร่างไม่กี่คนก็เสร็จเร็ว ถ้าหลายคนก็ร่างช้าเพราะมากคนก็มากความ แต่ถ้าไม่กี่คนก็ร่างเร็ว
“ผมไม่อยากเอาเรื่องของวันเวลามาผูกมัด เดี๋ยวกลายเป็นเอาคำพูดไปเล่นกันว่ายึดโรดแมป วันเดือนปี ไม่สามารถพูดชัดเจนได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ทั้งนี้การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดหลังจากรู้คะแนนประชามติ” นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ใครจะตีความว่าที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านเกิดจากสาเหตุอะไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบใครจะเป็นคนตีความ ซึ่งบางทีการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านดูกันก็รู้แล้วสามารถเดาได้ เช่นดูจากคะแนนของจังหวัด ดูภาคย่านไหนมีคะแนนออกมาเท่าไรกี่เปอร์เซ็นต์ มันดูได้ มันพอจะบอกได้ เหมือนคะแนน ส.ส.บางพรรค เวลาจะเช็กคะแนนนิยมจะเช็กได้จากตรงไหน คนกรุงเทพฯ คิดอย่างไร คนภาคไหนเลือกกี่เปอร์เซ็นต์ แค่นี้ก็เดาหน้าตาออกได้ถึงความนิยมของพรรค
“เอาเป็นว่าถ้าไม่ผ่านก็ร่างใหม่ ส่วนการร่างใหม่จะมีขั้นตอนอย่างไร จะเอาฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาปรับหรือไม่-ไม่ทราบ ไม่รู้จริงๆ ถ้าตอบไปเดี๋ยวคนก็บอกว่ารู้ได้อย่างไร เกิดตอบไปเป็น X อาจมีคนพร้อมใจให้ผลออกมาเป็น Y วันนี้มีหลายอย่างในประเทศไทยที่ตั้งใจให้เป็นอย่างหนึ่ง แต่คนพูดกันมาก ก็กลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยความเสียดาย ทั้งๆ ที่อันเดิมก็ดีแล้ว” นายวิษณุกล่าว
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรื่องนี้ว่า นายอภิสิทธิ์พูดมาโดยตลอดว่า การจะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ต้องดูบริบททางการเมือง ว่าประเทศจะสามารถเดินก้าวผ่านไปได้หรือไม่หลังทำประชามติ จึงขอให้สื่อมวลชนและสมาชิกหรือผู้สนับสนุนพรรคใจเย็นๆ ตั้งสติและพิจารณาเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญโดยใช้เหตุผลและต้องดูให้ครบในทุกมิติ ซึ่งเชื่อว่าก่อนวันลงประชามติ หัวหน้าพรรคจะมีทิศทางที่ชัดเจนในกรณีนี้ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนกลุ่มบุคคลหรือเพื่อประโยชน์ทางการเมือง.