วันนี้ วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2562 เวลา 14.30 น. : ร้อยเอก ดร.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมเปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทภารกิจในการดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรและประชาชน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติต่างๆ ของประเทศ ด้วยการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือดูแลพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานกว่า 110 ล้านไร่ การเติมน้ำให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำสำคัญทั่วประเทศ บรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่า พายุลูกเห็บ และปัญหา ฝุ่นละอองในอากาศ รวมถึงพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งภารกิจดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอดศาสตร์พระราชา ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อันจะเป็นการป้องกันและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี นโยบายถัดมาคือเรื่องการแก้ปัญภัยแล้งที่กำลังวิกฤติอยู่ในขณะนี้
โดยมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเตรียมการรับมือภัยแล้งที่หนักขึ้น วางแผนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้ตรงเป้าหมายและความต้องการของพี่น้องเกษตรกรและประชาชน รวมทั้งให้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานร่วมบูรณาการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ กำลังพลต่างๆ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศให้ครอบคลุมและทั่วถึง และนโยบายการปฏิบัติงานด้วยหลักธรรมบาล ได้เน้นย้ำให้ข้าราชการและบุคลากร ปฏิบัติหน้าที่โดยมีหลักคุณธรรม นิติธรรม ความโปร่งใส ความมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับการบริการจาคภาครัฐอย่างเต็มที่ เกิดเป็นความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
สำหรับการเพิ่มอัตรากำลังบุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจต่างๆ บุคลากรของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีการปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม–31 ตุลาคม ของทุกปี รวมเป็นระยะเวลา 8 เดือนเต็มโดยไม่มีวันหยุดราชการ และบุคลากรทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักบิน เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ณ ขณะนี้ยังมีไม่เพียงพอสำหรับภารกิจการปฏิบัติงานที่มากขึ้น ดังนั้น การเพิ่มอัตรากำลังบุคลากรจึงเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีเพียงพอรองรับกับภารกิจ และสามารถปฏิบัติงานได้สำเร็จตรงตามเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติเพิ่มอัตรากำลังไปยังคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป โดยอัตรากำลังที่ขอรับการสนับสนุน เป็นตำแหน่งข้าราชการ จำนวน 321 ตำแหน่ง และพนักงานราชการ จำนวน 475 ตำแหน่ง รวมทั้งสิ้น 796 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ร้อยเอก ดร.ธรรมนัส ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากด้านอัตรากำลังที่ต้องเร่งดำเนินการแล้ว การดำเนินการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์พระราชา ที่บริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในพื้นที่จำนวน 50 ไร่ เป็นเรื่องที่จะเร่งดำเนินการด้วย
เพื่อให้กรมฝนหลวงและ การบินเกษตรมีความพร้อมในการเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายในปี 2580 ซึ่งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ จะจัดตั้งเป็นศูนย์ฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ ให้บริการข้อมูลความรู้เกี่ยวโครงการฝนหลวงภายในหอเฉลิมพระเกียรติ พัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและด้านปฏิบัติการ เป็นศูนย์การสร้างเครือข่ายวิชาการ(ในประเทศ/ต่างประเทศ) ควบคุมคุณภาพการปฏิบัติการฝนหลวง ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์พระราชา รวมทั้งมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน
เพื่อรองรับปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่และสนับสนุนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการสำรวจ ออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้าง และเตรียมจัดตั้งของบประมาณดำเนินการในปี 2564-2567 และขอสนับสนุนอัตรากำลังเพิ่มเติมเพื่อรองรับปฏิบัติงานด้านการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรมและระบบควบคุมคุณภาพการปฏิบัติการฝนหลวง และห้องปฏิบัติการวิจัยด้านต่าง ๆ อีกจำนวน 19 อัตราด้วย
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดการบินดัดแปรสภาพอากาศ ณ สนามบินตาก อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ด้านการบินปฏิบัติการฝนหลวงและการบินดัดแปรสภาพอากาศให้แก่ผู้สนใจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นศูนย์ฝึกให้แก่นักบินของกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร และเพื่อขยายพื้นที่การปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมในพื้นที่ภาคเหนือ และแก้ปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการขอใช้สถานที่และจัดตั้งงบประมาณ รวมถึงการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ขณะนี้มีความคืบหน้าการดำเนินการออกแบบโดยกองทัพอากาศเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนที่สำนักงบประมาณพิจารณาการใช้งบประมาณต่อไป สำหรับการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงทางวิ่งของสนามบินให้ได้มาตรฐาน เครื่องบินปฏิบัติการฝนหลวงสามารถขึ้น-ลงได้อย่างปลอดภัย รองรับเครื่องบินขนาดเล็ก (CARAVAN) และขนาดกลาง (CASA) ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ และสามารถพัฒนาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ของจังหวัดจันทบุรีในอนาคตต่อไป
Cr.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน