ที่ศาลา อเนกประสงค์ บ้านเนินคาย หมู่ 4 ตำบลวังศาล อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ นายอำนาจ ปาลาศ เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน เปิด โครงการ วันรณรงค์ การป้องกัน กำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ตามโครงการส่งเสริมการควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดชีววิธี ซึ่งหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของประเทศไทย เริ่มพบมีการระบาดครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม2561 หลังจากนั้นพื้นที่การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆเพื่อควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ทั้งการแจ้งเตือนเกษตรกรและให้ความรู้ในการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยการสนับสนุนแมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ซึ่งสามารถควบคุมการระบาดได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งการทำลายของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้
กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงให้จังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการโครงการส่งเสริมการควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด โดยชีววิธีซึ่งเป็นวิธีการจัดการศัตรูพืชต่อสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่ความยั่งยืน โดยมีเกษตรกรชาวอำเภอวังโป่งและเกษตรกรชาวอำเภอชนแดน จำนวน 250 คน เข้าร่วมงาน โดยจัดฐานเรียนรู้ จำนวน 4 ฐาน ฐานที่1 ลักษณะของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ฐานที่2 การสำรวจพื้นที่การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ฐานที่3 การป้องกันกำจัดหนอนข้าวโพดลายจุด ฐานที่4 การผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบูรณ์ สำนักงานเกษตรอำเภอวังโป่ง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่อำเภอวังโป่ง
จากนั้น นายอำนาจ ปาลาศ เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมคณะ ฯ ได้ลงพื้นที่ไร่ข้าวโพดของนายสุวรรณพงษ์ แพ่งพรม เกษตรกรบ้านเนินคาย หมู่4 ตำบลวังศาล อำเภอวังโป่ง ซึ่งปลูกข้าวโพด จำนวน 9ไร่ อายุข้าวโพด ราว 40 วัน เพื่อให้ความรู้เรื่องการผลิตหรือการเพาะพันธุ์ของแมลงหางหนีบ พร้อมสาธิตวิธีปล่อยแมลงหางหนีบ จำนวน 2,000ตัว ลงแปลงปลูกข้าวโพด จำนวน 9 ไร่ หรือ อัตรา 100 – 1,000 ตัว / ไร่ เพื่อช่วยกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดด้วยศัตรูธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมี
ทั้งนี้ แมลงหางหนีบ เป็นกลุ่มแมลงที่ทำหน้าที่ในการย่อยสลายเศษซากพืช จึงมักพบแมลงหางหนีบอยู่ในที่ชื้น มืด และค่อนข้างอับ ตามแปลงพืชไร่ชนิดต่างๆ เช่น ไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย โดยปกติแมลงหางหนีบจะออกหากินเฉพาะกลางคืน สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว และหากัดกินไข่ตัวหนอน และตัวอ่อนของสัตว์ต่างๆ ที่มีขนาดเล็ก มีความสามารถในการเสาะหาเหยื่อตามซอกมุมได้ดี ซึ่งการทำลายเหยื่อที่เป็นหนอนในไร่ข้าวโพด จะใช้แพนหางที่มีลักษณะคล้ายคีมหนีบลำตัวเหยื่อแล้วกินเป็นอาหาร แต่ถ้าเป็นเพลี้ยอ่อนจะกัดกินโดยตรง โดยแมลงหางหนีบ 1 ตัว จะสามารถกินเหยื่อได้ประมาณ 20-30 ตัวต่อวัน หากแมลงหางหนีบอิ่มแล้ว และยังเจอตัวหนอนจะใช้แพนหางหนีบจนกระทั่งตัวหนอนตาย และจากไปโดยไม่กิน และจะหนีบต่อไปเรื่อยๆ เมื่อเจอหนอนตามไร่ข้าวโพด
เดชา มลามาตย์/มนสิชา คล้ายแก้ว