สืบเนื่องจากกรณี เหมืองทอง บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่หมู่ 8 บ้านดงหลง ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ปิดตัวลงตั้งแต่ วันที่31ธันวาคม 2559 กระทั่งต่อมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้ผู้ประกอบการที่จะประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศไทยสามารถยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่) และเป็นไปตามนโยบายทองคำ ส่วนกรณีที่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ครอบคลุม 3 จังหวัด พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ได้ขอเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อขอยุติข้อพิพาทนั้น แนวทางการเจรจาเอกชนจะต้องอยู่ได้ รัฐต้องไม่เสียเปรียบ และกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ซึ่งนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ 10 ราย ประมาณ 100 แปลง ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายคือ 12 จังหวัด ประกอบด้วยเลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สตูล ส่วนของอัคราฯ มีคำขอต่ออายุประทานบัตร 1 แปลง อาชญาบัตรสำรวจแร่อีกหลาย 10 แปลง และคำขอต่อใบประกอบโรงโลหะกรรมอีก 1 แห่ง แต่ทั้งหมดยังไม่ได้มีการอนุมติใบอนุญาตใดๆ ซึ่งหากอัคราฯ ยังคงต้องการดำเนินประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องยื่นคำขอใหม่ แต่จะต้องนำส่งข้อมูลเพิ่มเติม ตามพ.ร.บ.ใหม่ที่กำหนดไว้เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ บ้านดงหลง และ บ้านวังชะนาง ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่อาศัยอยู่รอบเหมืองทอง บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต่างพากันดีใจ เมื่อได้ทราบข่าว และมีความหวังว่า หากเหมืองทองได้กลับมาเปิดอีกครั้ง จะทำให้ชาวบ้านในชุมชน ได้มีงานทำ และ ลูกหลานที่เดินทางออกไปหาทำงานต่างจังหวัด ก็จะได้กลับมาทำงานใกล้บ้านเช่นเคย ซึ่งจะทำให้ชุมชนที่เคยเงียบเหงา ร้านค้าที่เคยปิดตัวลงหลายร้าน คงกลับมาคึกคักอีกครั้ง
เสียงสัมภาษณ์ นางกุลจิรา เพ็ชรภักดิ์ อายุ 52 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 197 / 1 หมู่ 8 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ตนมีอาชีพค้าขายมานานกว่า 15 ปี ซึ่งที่ผ่านมาได้ขายลูกชิ้นอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเหมืองทอง มีรายได้เลี้ยงครอบครัวเป็นอย่างดี แต่หลังจากเหมืองทองถูกสั่งปิด ทำให้ค้าขายไม่ค่อยได้ ไม่มีคนมาซื้อ รายได้ลดน้อยลงเกินกว่าครึ่ง จากที่เคยขายได้วันละ 2-3 พันบาท ก็เหลือเพียงวันละแทบไม่ถึง 1,000 บาท พอหักต้นทุน ค่าใช้จ่ายแล้ว แทบไม่เหลือกำไร ส่งผลให้ครอบครัวเริ่มขัดสน จึงต้องดิ้นรนออกไปขายต่างพื้นที่ เพื่อให้มีรายได้เพิ่ม ซึ่งหากต่อจากนี้ เหมืองทอง จะกลับมาเปิดดำเนินกิจการต่อ ก็นับเป็นเรื่องดี ที่ตน และชาวบ้านรายอื่นๆ ในชุมชน จะได้กลับมาทำงาน ประกอบอาชีพค้าขายกันอย่างคึกคักเช่นเดิม
ด้าน นายวิชิต อินจาด อายุ 42 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 32 หมู่1 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า เดิมทีตนทำงานเป็นพนักงานเหมืองทอง มา10 กว่าปี ได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 12,000 – 13,000 บาท ซึ่งถือว่าเพียงพอเลี้ยงครอบครัว เนื่องจากทำงานอยู่ใกล้บ้าน แต่หลังจากเหมืองปิดตัวลง ทำให้ขาดรายได้ จึงตัดสินใจประกอบอาชีพค้าขายผลไม้ แต่ก็ต้องประสบปัญหาภาวะขาดทุน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัวในช่วงนี้ ซึ่งพอทราบข่าวว่าเหมืองทองจะเปิดทำการต่อ ตนจึงรู้สึกดีใจมาก อยากกลับไปทำงานที่เดิม เพื่อจะได้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และใช้หนี้ที่ไปกู้ยืมมา
ส่วน นางบุญเทียม เรืองขำ อายุ 73 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่114 หมู่1 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ลูกเขยได้ทำงานอยู่ที่เหมืองทองมานานนับ 10 ปี และ ลูกสาวก็ทำได้ประมาณ 3 ปี แต่หลังจากเหมืองปิดตัวลง ทั้งคู่ก็ไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว จึงตัดสินใจเดินทางไปหาทำงานที่กรุงเทพฯ ทิ้งลูกไว้ให้ตนเลี้ยงดูถึง 3 คน ซึ่งหากเหมืองทองจะเปิดอีกครั้ง ก็รู้สึกดีใจมาก ที่ลูกเขยและลูกสาว จะได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน จะได้มีเวลาเลี้ยงดูลูก และเลี้ยงแม่ที่อายุมากขึ้นเรื่อยๆ
เดชา มลามาตย์/มนสิชา คล้ายแก้ว