‘ประธานาธิบดีตุรกี’ประกาศลั่น กวาดล้าง ‘ไวรัส’ จากหน่วยงานรัฐ ภายหลังจับกุมแล้วกว่า 6 พันคน เป็นนายพล 34
ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ของตุรกี กล่าวปราศรัยต่อฝูงชนภายหลังพิธีฝังศพเหยื่อผู้เสียชีวิตจากความพยายามก่อรัฐประหาร ณ บริเวณมัสยิดฟาตีห์ ในเมืองอิสตันบูล วันอาทิตย์ (17 ก.ค.)
เอเอฟพี – ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ของตุรกี ประกาศลั่นในวันอาทิตย์ (17 ก.ค.) ว่าจะกวาดล้าง “ไวรัส” ภายในองค์กรต่างๆ ของรัฐ ระหว่างที่เขากล่าวปราศรัยภายหลังพิธีฝังศพของเหยื่อผู้ถูกสังหารเมื่อเกิดเหตุรัฐประหารที่ประสบความล้มเหลวช่วงวันศุกร์ (15) และเสาร์ (16) ที่ผ่านมา ซึ่งเขาประณามกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของ เฟตุลเลาะห์ กูเลน อดีตมิตรที่กลายเป็นศัตรูคู่แค้นของเขา
“เราจะต้องดำเนินการทำความสะอาดสะสางไวรัสนี้ออกจากองค์การต่างๆ ทั้งหมดของรัฐอย่างต่อเนื่อง เพราะไวรัสนี้ได้แพร่กระจายออกไปมาก โชคร้ายที่ไวรัสนี้ก็เหมือนกับมะเร็ง มันแอบซุกซ่อนตัวอยู่ภายในรัฐ
“เราทราบเรื่องนี้แล้วและได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว” เขากล่าวเตือนต่อผู้คนหลายพันคนซึ่งไปร่วมแสดงความไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตที่มัสยิดฟาตีห์ ในนครอิสตันบูล
ระหว่างการกล่าวปราศรัยที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกคราวนี้ ประธานาธิบดีตุรกียังได้กล่าวยกย่องสรรเสริญ “ผู้สละชีพ” เพื่อประชาธิปไตยเหล่านี้ พร้อมกับยืนยันว่าภายหลังเผชิญเหตุการณ์ร้าย ประชาชนก็มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอีก
“พวกเขาอาจจะมีรถถัง แต่พวกเราก็มีความศรัทธาของพวกเรา พวกเราจะไม่ยอมถอยหนีจากจัตุรัส … แต่พวกเราจะยืนหยัดท้าท้ายต่อไป
“ผมพูดเอาไว้อย่างนี้เมื่อวานนี้ ความต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกวาดทิ้งไปอย่างไม่แยแส นี่แหละคือสิทธิของพวกคุณทั้งหลาย”
‘ประธานาธิบดีตุรกี’ประกาศลั่น กวาดล้าง ‘ไวรัส’ จากหน่วยงานรัฐ ภายหลังจับกุมแล้วกว่า 6 พันคน เป็นนายพล 34
ประชาชนยืนอยู่ต่อหน้าแถวหีบศพประดับธงชาติตุรกี ในนครอิสตันบูล วันอาทิตย์ (17 ก.ค.) ระหว่างพิธีฝังศพเหยื่อ 7 คนที่เสียชีวิตไปในเหตุรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อวันศุกร์ (15) และเสาร์ (16) ที่ผ่านมา
ระหว่างความพยายามก่อรัฐประหารคราวนี้ มีพลเรือนและทหารประจำการเสียชีวิตไปรวม 161 คนในนครอิสตันบูลและกรุงอังการา ทั้งนี้ตามตัวเลขของทางรัฐบาล
ขณะที่ฝ่ายทหารระบุว่า พวกร่วมก่อการรัฐประหารก็ถูกฆ่าไปกว่า 100 คน
ถึงแม้มีความหวาดกลัวกันในสหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่นๆ ว่า เออร์โดกันจะเปิดฉากล้างแค้นอย่างขนานใหญ่ แต่ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า “เราอย่าได้ลืมเลือนว่า เราไม่ได้เป็นพวกอาฆาตพยาบาท”
คำพูดตอนนี้ของเขาดูเหมือนมุ่งเป็นการตอบโต้เสียงเรียกร้องของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ที่ขอให้ทุกๆ ฝ่าย “ประพฤติปฏิบัติภายในกรอบแห่งหลักนิติธรรม” และขอให้ผู้นำทั้งหลาย “หลีกเลี่ยงความประพฤติปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้นหรือความไร้เสถียรภาพมากขึ้น”
‘ประธานาธิบดีตุรกี’ประกาศลั่น กวาดล้าง ‘ไวรัส’ จากหน่วยงานรัฐ ภายหลังจับกุมแล้วกว่า 6 พันคน เป็นนายพล 34
กลุ่มทหารตุรกีแบกหีบศพของเพื่อนทหารผู้หนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อเสียชีวิตระหว่างความพยายามก่อรัฐประหาร ณ งานศพซึ่งจัดขึ้นที่กรุงอังการา ในวันอาทิตย์ (17 ก.ค.)
กวาดจับแล้วกว่า 6,000 นายพลถูกรวบ 34 คน
สำหรับผู้ที่ถูกจับกุมตัวภายหลังการรัฐประหารล้มเหลวลงไปแล้วนั้น รัฐมนตรียุติธรรมตุรกี เบกีร์ บอซดัก กล่าวในวันอาทิตย์ (17) ว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวแล้วมากกว่า 6,000 คน และจำนวนยังจะสูงขึ้นกว่านี้อีก
“การปฏิบัติการชำระสะสางกำลังดำเนินอยู่” สำนักข่าวอนาโดลู ของทางการตุรกีรายงานโดยอ้างคำพูดของรัฐมนตรีผู้นี้
ทางด้านสถานีโทรทัศน์เอ็นทีวีรายงานว่า จนถึงขณะนี้มีนายทหารยศนายพลระดับต่างๆ ถูกควบคุมตัวไปแล้ว 34 คน ในจำนวนนี้ก็รวมถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่อย่างเช่น เออร์ดัล ออซเติร์ก แม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 และ อาเดม ฮูดูตี แม่ทัพกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เมืองมาลัตยา
ในการปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างเมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ (17) พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบยังได้ควบคุมตัว ออซฮัน ออซบากีร์ นายทหารยศพลตรี ที่เป็นผู้บัญชาการของค่ายทหารในเมืองเดนิซลี ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ และเป็นผู้บัญชาการกองพลน้อยคอมมานโดที่ 11 พร้อมด้วยทหารอื่นๆ อีก 51 คน
นอกจากนั้น ทางการตุรกียังควบคุมตัวพลอากาศจัตวา เบกีร์ เออร์คาน วาน พร้อมด้วยนายทหารระดับรองๆ ลงมาอีกสิบกว่าคน เมื่อวันเสาร์ (16) ในข้อหาว่าหนุนหลังการรัฐประหารที่ล้มเหลวคราวนี้ ณ ฐานทัพอากาศอินซีร์ลิค ซึ่งเป็นฐานสำคัญที่กองทัพสหรัฐฯใช้ในการถล่มโจมตีในซีเรีย
ไม่เพียงเท่านั้น การกวาดล้างยังไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกองทัพ โดยสำนักข่าวอนาโดลูรายงานว่า คณะอัยการได้ออกหมายจับผู้พิพากษาและอัยการทั่วทั้งตุรกีรวม 2,745 คน
ทั้งนี้การสืบสวนสอบสวนทั่งหมดนำโดยคณะอัยการในกรุงอังการี ขณะที่พวกถูกจับเป็นพวกที่ต้องสงสัยว่าอยู่ในกลุ่มของกูเลน ซึ่งทางการตุรกีตั้งชื่อให้ว่า “องค์การก่อการร้ายเฟตุลเลาะห์ซี” (Fethullahci Terror Organisation หรือ FETO)
ทว่าพวกผู้สนับสนุน กูเลน นักการศาสนาอิสลามที่เคยเป็นพันธมิตรสนิทของเออร์โดกัน ก่อนจะแตกคอกันและกูเลนเดินทางไปพำนักลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯจนถึงเวลานี้ เรียกชื่อกลุ่มของตนเองว่า “ฮิซเมต” (แปลว่า บริการ) พร้อมยืนยันว่ากลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์และทำงานโดยสันติจริงๆ