เมื่อวันที่ 9 ส.ค.62 : ร.อ.ดร.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจสถานการณ์พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยจังหวัดขอนแก่น ประกาศเขตภัยพิบัติแล้งถึง 24 อำเภอ จากทั้งหมด 26 อำเภอ ซึ่งที่แรกได้ไปเยี่ยมเยียนประชาชนอำเภอชุมแพ,อำเภออุบลรัตน์ และอำเภอซำสูง โดยให้นโยบายว่า สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดตอนนี้คือ การจัดหาแหล่งน้ำเสริมและการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมชลประทาน,กรมฝนหลวงและการบินเกษตร,กรมส่งเสริมการเกษตร,กรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าวบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน อย่างเร่งด่วน
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ทั้งหมด 6,803,744 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตร 4,873,125 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 195,771 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.87 ของพื้นที่ทั้งหมด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มี 1 แห่งคือ เขื่อนอุบลรัตน์ ความจุเก็บกัก 2,431.30 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบัน (9 ส.ค.62) มีปริมาณน้ำ 541.41 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22.27 ของความจุเก็บกัก น้ำใช้การได้ 40.26 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 2.18 อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยระบายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศวันละ 0.50 ล้าน ลบ.ม. มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่ง ความจุรวม 105.88 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 28.61 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27.02 ของความจุทั้งหมด มีน้ำใช้การได้ 13.28 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 14.96 อ่างขนาดกลางที่มีความจุน้อยกว่าร้อยละ 30 มี 10 แห่ง ส่วนสถานการณ์น้ำ แม่น้ำชีตอนบน และแม่น้ำชีตอนกลางอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สำหรับแม่น้ำชีตอนล่าง อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เพราะน้ำค่อนข้างน้อย สำหรับสาเหตุที่อ่างขนาดใหญ่ และขนาดกลางมีน้ำน้อยเนื่องจากฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นมีฝนตกสะสม (1 ม.ค.- 9 ส.ค. 62) วัดได้ 507.8 มิลลิเมตรซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 59.54
ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 รายงานว่า ได้ช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสภาพน้ำในลำน้ำชีตื้นเขินด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนมหาสารคาม และเขื่อนร้อยเอ็ดเพื่อให้สถานีสูบน้ำเพื่อการประปาที่อยู่ตลอดสองฝั่งลำน้ำชีนำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค ตลอดจนยังเป็นการรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำ อีกทั้งนำเครื่องจักรเข้าไปขุดลอกเปิดทางน้ำ ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ชะลอการปลูกข้าวออกไป ส่งผลให้ในปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีดีขึ้น ในปัจจุบันจึงได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาวลงลำน้ำชีเพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับการอุปโภค-บริโภค ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด ยืนยันว่า ปัจจุบันไม่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการประปาและจะมีน้ำเพียงพอตลอดถึงฤดูแล้ง 2562/63 สำหรับการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โครงการส่งน้ำฯ หนองหวาย ได้ส่งน้ำหน้าฝายหนองหวายกว่า 10 ล้าน ลบ.ม. ไปช่วยนาข้าวในอำเภอน้ำพองกว่า 160,000 ไร่ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือนาข้าว 4,200 ไร่ ที่ตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากอ่างทุ่งพังพืดเข้าสู่บ่อพักน้ำดิบเพื่อผลิตประปาช่วยเหลือราษฎร ตำบลหัวทุ่ง อำเภอพล 430 ครัวเรือน นอกจากนั้นโครงการส่งน้ำฯ ชีกลางเพิ่มน้ำเหนือเขื่อนมหาสารคามเพื่อให้สถานีผลิตน้ำประปาท่าพระ (หนองบัวดีหมี) ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง มีน้ำดิบใช้ผลิตน้ำประปาด้วย
สำหรับที่จังหวัดชัยภูมิประกาศเขตภัยพิบัติแล้ง 7 ตำบลในอำเภอบำเหน็จณรงค์ ได้สูบน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เข้าช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว ส่วนที่จังหวัดยโสธรนั้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลางขุดเปิดสันตะกอนทรายท้ายเขื่อนร้อยเอ็ด เพื่อให้การระบายน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวันนี้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนร้อยเอ็ดจากเดิมวันละ 420,000 ลบ.ม. เป็นวันละ 1.80 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเติมน้ำชีตอนล่างหน้าเขื่อนยโสธร จังหวัดยโสธร เพื่อสนับสนุนน้ำในการการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขา จ.ยโสธร ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน